ไทยยื่นภาคยานุวัติสารเพื่อเข้าเป็นภาคีความตกลงสหประชาชาติว่าด้วยการอนุรักษ์ และจัดการประชากรสัตว์น้ำชนิดข้ามเขตและอพยพย้ายถิ่นไกล ๑๙๙๕

ไทยยื่นภาคยานุวัติสารเพื่อเข้าเป็นภาคีความตกลงสหประชาชาติว่าด้วยการอนุรักษ์ และจัดการประชากรสัตว์น้ำชนิดข้ามเขตและอพยพย้ายถิ่นไกล ๑๙๙๕

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 พ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,144 view

            เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๖๐ นายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้เข้าพบนาย Santiago Villalpando หัวหน้าฝ่ายสนธิสัญญา (Chief of Treaty Section) องค์การสหประชาติ ณ นครนิวยอร์ก เพื่อยื่นภาคยานุวัติสารเพื่อให้ไทยเข้าเป็นภาคีความตกลงว่าด้วยการปฏิบัติตามบทบัญญัติของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ฉบับลงวันที่ ๑๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๘๒ (พ.ศ. ๒๕๒๕) เกี่ยวกับการอนุรักษ์และการบริหารจัดการมวลปลาที่ย้ายถิ่นระหว่างเขตทางทะเลและปลาที่ย้ายถิ่นอยู่เสมอ ค.ศ. ๑๙๙๕ (พ.ศ. ๒๕๓๘) หรือ UN Fish Stock Agreement (UNFSA) ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่สำคัญต่อการร่วมกันจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำและการต่อต้านการทำการประมงผิดกฎหมาย โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างนานาประเทศและองค์กรจัดการประมงทั้งในระดับอนุภูมิภาคและภูมิภาค

             การเข้าเป็นภาคี UNFSA จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยในฐานะรัฐชายฝั่งที่มีมวลปลาย้ายถิ่น และในฐานะรัฐเจ้าของธงเรือที่ทำการประมงมวลปลาย้ายถิ่น ให้สามารถปฏิบัติตามพันธกรณีที่ไทยมีอยู่ในฐานะรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. ๑๙๘๒ (UNCLOS) ในเรื่องการอนุรักษ์และการบริหารจัดการทรัพยากรมวลปลาย้ายถิ่น อีกทั้งยังทำให้ไทยได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลไกระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ และบริหารจัดการทรัพยากรประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลหลวง ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจและความดูแลของรัฐใด เป็นการส่งเสริมการทำประมงอย่างรับผิดชอบ และช่วยรักษาปริมาณทรัพยากรประมงเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศอย่างยั่งยืน

             สำหรับการดำเนินการตามพันธกรณีนั้น พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นกฎหมายหลักของไทยที่กำหนดมาตรการอนุรักษ์ การควบคุมการทำการประมง และการต่อต้านการประมงผิดกฎหมาย โดยกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตและการควบคุมเรือประมงทั้งระบบ ทั้งเรือที่ชักธงไทยซึ่งทำการประมงในน่านน้ำและนอกน่านน้ำไทย และเรือประมงต่างชาติที่ได้รับอนุญาตเข้ามาทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือน่านน้ำไทย ตลอดจนการควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำ โดยเป็นกฎหมายซึ่งรองรับมาตรการต่าง ๆ ทั้งในฐานะรัฐชายฝั่ง รัฐเจ้าของธง และรัฐเจ้าของท่า โดย พ.ร.ก.ฯ มีบทบัญญัติที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งสามารถรองรับการปฏิบัติของไทยตามพันธกรณีภายใต้ UNFSA ได้

              การเข้าเป็นภาคีความตกลง UNFSA ยังเป็นการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม ที่จัดทำขึ้นตามแผนปฏิบัติการขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations – FAO) และพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงของไทยในการขจัดการประมงผิดกฎหมาย และการเดินหน้าปฏิรูปภาคประมงของไทย เพื่อการทำการประมงอย่างยั่งยืนและมีความรับผิดชอบ และเพื่อให้การทำการประมงนอกน่านน้ำและในทะเลหลวงอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับมาตรการควบคุมและอนุรักษ์ตามมาตรฐานสากลต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ