วันที่นำเข้าข้อมูล 26 เม.ย. 2560
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
(คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)
ถ้อยแถลงร่วมระหว่างราชอาณาจักรบาห์เรนกับราชอาณาจักรไทย
เนื่องในโอกาสการเยือนราชอาณาจักรบาห์เรนอย่างเป็นทางการของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย
ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๕ เมษายน ๒๕๖๐ (ค.ศ. ๒๐๑๗)
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยเดินทางเยือนราชอาณาจักรบาห์เรนอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๕ เมษายน ๒๕๖๐ (ค.ศ. ๒๐๑๗) ตามคำเชิญของเจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ (His Royal Highness Prince Khalifa bin Salman Al Khalifa) นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และเจ้าหน้าที่อาวุโส การเยือนในครั้งนี้ ตรงกับโอกาสครบรอบ ๔๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรบาห์เรนและราชอาณาจักรไทย
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับพระราชทานพระราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระราชาธิบดีฮามัด บิน อิซา อัลคอลิฟะห์ (His Majesty King Hamad Bin Isa Al Khalifa) แห่งราชอาณาจักรบาห์เรน ในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๐ (ค.ศ. ๒๐๑๗) โดยนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยได้แสดงความซาบซึ้งใจอย่างยิ่งต่อรัฐบาลบาห์เรนที่ได้ให้การสนับสนุนประเทศไทยในระดับทวิภาคีและพหุภาคี นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะกระชับความสัมพันธ์ที่ดีเลิศอยู่แล้วระหว่างทั้งสองราชอาณาจักรให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยได้เข้าเฝ้า เจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน ในวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๐ (ค.ศ. ๒๐๑๗) โดยระหว่างการเข้าเฝ้า ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นทวิภาคี ประเด็นภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญ และแสดงความปรารถนาที่จะยกระดับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างสองราชอาณาจักรให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ก่อนการพบหารือนายกรัฐมนตรีแห่งบาห์เรนได้มีการพบหารือทวิภาคีระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสองประเทศ และการพบหารือระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไทยและบาห์เรนด้วย
ทั้งสองฝ่ายได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการเยือนบาห์เรนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการเยือนภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย การเยือนครั้งนี้สะท้อนความสำคัญที่ราชอาณาจักรไทยมีให้ต่อการสานสัมพันธ์ทวิภาคีให้แน่นแฟ้นระหว่างราชอาณาจักรทั้งสอง และเป็นโอกาสที่ดีในการขยายและขับเคลื่อนความร่วมมือในระดับทวิภาคีให้ก้าวหน้าในทุกมิติ
การประชุมหารืออย่างเป็นทางการ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยทรงเป็นและเป็นประธานร่วม เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๐ (ค.ศ. ๒๐๑๗) จัดขึ้นที่พระราชวัง Al Gudaibiya ในบรรยากาศที่เป็นมิตรและเปี่ยมไปด้วยมิตรภาพ ความเคารพและความเข้าใจซึ่งกันและกัน สะท้อนถึงความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายแสดงความพอใจต่อสถานะความสัมพันธ์ทวิภาคีในปัจจุบัน และตระหนักถึงการสนับสนุนระหว่างกันที่มีมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างความใกล้ชิดและยกระดับความร่วมมือทวิภาคีที่ดีเยี่ยมอยู่แล้วไปสู่จุดสูงสุดมากยิ่งขึ้น และยืนยันปณิธานร่วมกันที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้น ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองของประเด็นซึ่งอยู่ในความสนใจร่วมกัน อันได้แก่ ประเด็นด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ความมั่นคงของมนุษย์ สาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางพลังงาน การเดินอากาศ และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน รวมทั้งประเด็นในภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมให้เกิดสั นติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคและประชาคมระหว่างประเทศ
ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงพัฒนาการด้านการเมืองในปัจจุบันของแต่ละประเทศ ผู้นำทั้งสองรับทราบถึงพัฒนาการในเชิงบวกของกันและกันและแสดงความมั่นใจอย่างเต็มที่ต่อความสำเร็จของการดำเนินการไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยของไทย และพัฒนาการด้านประชาธิปไตยของบาห์เรน
ทั้งสองฝ่ายเน้นย้ำความสำคัญของการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-บาห์เรน (HJC) และตกลงที่จะจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย-บาห์เรน ครั้งที่ ๓ ที่บาห์เรน ในปี ๒๕๖๐ ในช่วงวันที่จะได้ตกลงร่วมกันโดยผ่านช่องทางการทูต
ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงศักยภาพของเศรษฐกิจของแต่ละฝ่าย ตกลงที่จะส่งเสริมให้นักลงทุนของกันและกันพัฒนาความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการค้าให้มีความใกล้ชิดมากขึ้น ฝ่ายบาห์เรนรับทราบถึงการดำเนินโครงการด้านการพัฒนาต่างๆ ของไทย เช่น ระเบียงเศรษฐกิจด้านตะวันออก (Eastern Economic Corridor - EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones - SEZs) และศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยในฐานะประตูสำหรับบาห์เรนสู่อาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) ในปี ๒๕๕๘ (ค.ศ. ๒๐๑๕) ซึ่งจะเพิ่มพูนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนของไทยกับภูมิภาคอย่างทวีคูณ ไทยได้ให้ความสำคัญกับนโยบายประเทศไทยบวกหนึ่ง และประเทศไทยบวกอาเซียนในการยกระดับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้า และเสนอให้ฝ่ายบาห์เรนพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะใช้นโยบายเดียวกันในรูปแบบบาห์เรนบวกหนึ่งและบาห์เรนบวกกลุ่มประเทศคณะมนตรีรัฐอ่าวอาหรับ (GCC)
ฝ่ายไทยชื่นชมนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ก้าวหน้าของบาห์เรน ภายใต้แผนปฏิบัติการของรัฐบาลระหว่างปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๕-๒๐๑๘) และวิสัยทัศน์ ๒๐๓๐ ของบาห์เรน ซึ่งเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองและความผาสุกของประชาชนชาวบาห์เรน นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังชื่นชมบทบาทของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งบาห์เรน (Economic Development Board of Bahrain) ในการส่งเสริมการลงทุนและการยกระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของบาห์เรน
ผู้นำทั้งสองพึงพอใจกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว การส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยตระหนักถึงผลประโยชน์ร่วมกันที่จะได้รับจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในหมู่นักท่องเที่ยวชาวบาห์เรน ฝ่ายไทยได้ย้ำความตั้งใจที่จะยังคงกฎระเบียบที่จะอนุญาตให้บุคคลจากกลุ่มประเทศรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) สามารถเดินทางมายังประเทศไทยสามารถพำนักในไทยโดยได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราเป็นระยะเวลา ๙๐ วัน
โดยตระหนักถึงผลกระทบจากอาชญากรรมข้ามชาติที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และยาเสพติดที่มีต่อการพัฒนาและความมั่นคงของประเทศ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อเสริมสร้างแนวทางและการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างรอบด้านทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนผู้ประกอบอาชีพและผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพ และตกลงที่จะสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรดังกล่าวทั้งในระดับรัฐบาลและภาคเอกชน และให้มีการแต่งตั้งผู้ประสานงานด้านความร่วมมือสาธารณสุข นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะร่างแผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุข เพื่อใช้ประโยชน์จากบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยกับบาห์เรนที่ได้ลงนามไปแล้ว
ฝ่ายไทยรับทราบถึงความสนใจของฝ่ายบาห์เรนที่จะยกระดับความร่วมมือด้านสาธารณสุข อาทิ โครงการการเยือนของแพทย์ (Visiting Doctors Programme) และการวิจัยร่วมด้านการแพทย์ ซึ่งไทยได้แสดงความพร้อมที่จะเสนอให้ความเชี่ยวชาญและความร่วมมือในสาขาดังกล่าวต่อบาห์เรน เพื่อให้มีความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมก่อนที่จะมีความร่วมมืออย่างเต็มรูปแบบ ฝ่ายไทยได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะส่งแพทย์ทหารมาให้การสนับสนุนนโยบายของบาห์เรนที่ให้ความสำคัญกับการสาธารณสุข
ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองในประเด็นระดับภูมิภาคและประเด็นพหุภาคีต่าง ๆ และได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อความรุนแรงที่ยังคงมีอยู่ และสถานการณ์ที่ตกต่ำลงในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในซีเรียและเยเมน ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า ประชาคมระหว่างประเทศควรดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ในประเทศดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านมนุษยธรรม และลดผลกระทบที่มีต่อประชาชน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องกันว่า ตะวันออกกลางยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพของโลก
ทั้งสองฝ่ายได้ประณามการก่อการร้ายทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นไปด้วยแรงจูงใจหรือเป้าหมายอะไรและเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อต่อต้านภัยคุกคามของการก่อการร้าย และยืนยันเจตนารมณ์ในการเสริมสร้างความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีเพื่อต่อต้านการก่อการร้าย และการให้สนับสนุนทางการเงินเพื่อการก่อการร้าย ทั้งนี้ ไทยยินดีต่อบทบาทของบาห์เรนในการเข้าร่วมกลุ่มพันธมิตรนานาชาติในปฏิบัติการต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศ
ทั้งสองฝ่ายได้เน้นถึงความสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในกรอบอาเซียน-คณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC) ไทยยินดีที่จะรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน ASEAN-GCC ของฝ่ายอาเซียน และพร้อมที่จะร่วมมือกับบาห์เรนในฐานะผู้ประสานงานของฝ่าย GCC ในกรอบความร่วมมือนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะสร้างพลวัตความร่วมมือในกรอบ ASEAN-GCC และพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ASEAN-GCC ภายในปี ๒๕๖๐ (ค.ศ. ๒๐๑๗)
ทั้งสองฝ่ายแสดงความพอใจต่อการพัฒนาที่สำคัญของกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue - ACD) และเห็นพ้องที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของกรอบความร่วมมือ ACD
ฝ่ายบาห์เรนชื่นชมความสำเร็จของการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ ๒ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพเมื่อปี ๒๕๕๙ (ค.ศ. ๒๐๑๖) ซึ่งผู้นำประเทศสมาชิกได้ร่วมหารือถึงอนาคตร่วมกันของภูมิภาคเอเชีย ระหว่างการประชุมดังกล่าว ประเทศสมาชิก ACD ได้วางแนวทางความร่วมมือร่วมกัน ซึ่งสอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. ๒๐๓๐ (UN 2030 Agenda for Sustainable Development) ฝ่ายไทยซาบซึ้งที่นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรนได้เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ ๒ และได้แสดงบทบาทและการมีส่วนร่วมที่สำคัญต่อการพัฒนาของ ACD โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของบาห์เรนในฐานะประเทศผู้ร่วมขับเคลื่อนหลักในห้าเสาของความร่วมมือ ACD
ทั้งสองฝ่ายแสดงความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนกันและกันในบทบาทระหว่างประเทศและการสมัครรับเลือกตั้งในเวทีองค์กรระหว่างประเทศ ฝ่ายไทยแสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนการสมัครของบาห์เรนเพื่อเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ วาระปี ๒๕๖๙ – ๒๕๗๐
ความตกลงและบันทึกความเข้าใจที่ได้ลงนามในระหว่างการเยือนครั้งนี้
๑. พิธีสารแก้ไขอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรบาห์เรนเพื่อเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้
๒. บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงกิจการเทศบาลและผังเมืองแห่งราชอาณาจักรบาห์เรนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร
๓. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กับ University of Bahrain
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย ได้แสดงความขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นและไมตรีจิตที่ได้มอบแก่ตนและคณะผู้แทนไทยในระหว่างการเยือนครั้งนี้
นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทยได้ทูลเชิญเจ้าชายคอลิฟะห์ บิน ซัลมาน อัล คอลิฟะห์ นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรบาห์เรน เสด็จฯ เยือนประเทศไทยในโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายสะดวก
* * * * *
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **