United Nations Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ได้จัดทำรายงานระบุให้ประเทศไทยเป็นลำดับที่ 32 จาก 155 ประเทศ ในรายงานความสุขโลก (World Happiness Report) ประจำปี ค.ศ.2017 และเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียลำดับที่ 2 รองจากสิงคโปร์ (ลำดับที่ 26) นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศลำดับที่ 19 ที่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกเมื่อเปรียบเทียบระหว่างช่วงปี 2548 – 2550 กับช่วงปี 2557 – 2559
รายงานความสุขโลก (World Happiness Report ) ประจำปี ค.ศ.2017 ได้เปิดตัวเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560 ซึ่งสหประชาชาติประกาศให้เป็นวันแห่งความสุขสากล (International Day of Happiness) ตามมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่ 66/281 เมื่อปี 2555 โดยรายงานฉบับนี้ เป็นฉบับที่ 5
ผู้เขียนรายงานดังกล่าวเป็นนักวิชาการอิสระและบรรณาธิการ ประกอบด้วย (๑) ศ. John Helliwellมหาวิทยาลัย University of British Columbia (๒) ศ. Richard Layard มหาวิทยาลัย LSE และ (๓) ศ. Jeffrey Sachs มหาวิทยาลัย Columbia และผู้อำนวยการ SDSN ซึ่งได้เสนอมุมมองใหม่ว่า รายได้มิใช่ปัจจัยหลักในการอธิบายความแตกต่างของความสุขของคนในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่คือ สุขภาพจิต สุขภาพกาย และความสัมพันธ์ส่วนตัว โดยเฉพาะการป่วยทางจิตเป็นสาเหตุสำคัญของความทุกข์ยาก (misery) ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy - SEP) และหลักพระพุทธศาสนาที่รัฐบาลให้ความสำคัญและใช้เป็นแนวทางพัฒนาประเทศเพื่อความยั่งยืน
อนึ่ง เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๐ กระทรวงการต่างประเทศได้นิมนต์พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ร่วมกล่าว keynote ในการประชุมเสวนา หัวข้อ Public Policies for Happiness จัดโดยคณะผู้แทนถาวรสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก โดยมีคณะผู้แทนถาวรไทย ออสเตรเลีย ภูฏาน เดนมาร์ก เอกวาดอร์ รวันดา สโลวีเนีย และ UN Department for Public Information (UN-DPI) และ UN Sustainable Development Solutions Network (SDSN) เป็นเจ้าภาพร่วม ซึ่ง Keynote ของพระศากยวงศ์วิสุทธิ์ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะการจำกัดนิยามของความสุขเป็น ๒ มิติ คือ ความสุขทางวัตถุ (material happiness) และความสุขทางใจ (mental happiness) รวมทั้งการอธิบาย SEP โดยใช้ 3S (Sanity-Spirituality-Sustainability)