เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๐ นางสาว Victoria Kwakwa รองประธานธนาคารโลกสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เข้าเยี่ยมคารวะนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม High-Level Brainstorming Dialogue (HLBD) on Enhancing Complementarities between the ASEAN Community Vision 2025 and the United Nations 2030 Agenda for Sustainable Development ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๐ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นประธานร่วมกับ ดร. Shamshad Akhtar เลขาธิการบริหาร คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UN ESCAP)
ในการเข้าเยี่ยมคารวะครั้งนี้ นางสาว Victoria Kwakwa ในฐานะผู้แทนระดับสูงของธนาคารโลก ได้แสดงความพร้อมจะสนับสนุนความพยายามของอาเซียนและประเทศไทยในการผลักดันความเชื่อมโยงระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “Complementarities Initiative” รวมถึงได้หารือในประเด็นสำคัญต่าง ๆ อาทิ (๑) การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ (๒) ข้อริเริ่มของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและธนาคารโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีข้อเสนอ เช่น ความร่วมมือด้านศูนย์ ASEAN Centre on Active Ageing and Innovation การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนและในภูมิภาค การเสริมสร้างขีดความสามารถของติมอร์ – เลสเต และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสำนักเลขาธิการอาเซียน นอกจากนี้ ไทยและธนาคารโลกยังได้หารือถึงความร่วมมือต่าง ๆ เช่น การจัดทำการประเมินความต้องการหลังเกิดสาธารณภัย (post-disaster needs assessment – PDNA) และการส่งเสริมศักยภาพแก่หน่วยงานด้านสถิติไทย เพื่อให้มีการจัดเก็บข้อมูลและประเมินความคืบหน้าในการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน
อนึ่ง ประเทศไทยได้รับมอบหมายจากที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ที่เวียงจันทน์ ให้เป็นผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนและวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น การเข้าเยี่ยมคารวะครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของธนาคารโลกด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน และสามารถใช้ประโยชน์จากความรู้และความเชี่ยวชาญระดับโลกของธนาคารโลกในด้านนี้ มาเป็นแบบอย่างในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในอาเซียนต่อไป