การนำเสนอรายงานด้วยวาจาต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) หรือคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR)

การนำเสนอรายงานด้วยวาจาต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) หรือคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR)

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 มี.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,793 view

                 เมื่อวันที่ ๑๓ – ๑๔ มีนาคม ๒๕๖๐ คณะผู้แทนไทย นำโดยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เดินทางไปนำเสนอรายงานด้วยวาจาต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) หรือคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ณ นครเจนีวา

                  คณะผู้แทนไทยได้รับฟังข้อเสนอแนะ ตอบชี้แจงข้อซักถาม ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแนวปฏิบัติกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งครอบคลุมประเด็นสิทธิมนุษยชนที่หลากหลาย อาทิ การปรับแก้และกำหนดการบังคับใช้ของร่างรัฐธรรมนูญของไทย สถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสันติ ความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ความรุนแรงต่อสตรี การทรมานและการบังคับสูญหาย การใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ระเบียบและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้กำลังและการอบรมด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย การลงโทษประหารชีวิต ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน การแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐ การค้ามนุษย์และการใช้แรงงานเด็ก ตลอดจนประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนด้านอื่น ๆ เช่น สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและสมัครลงเลือกตั้งของกลุ่มต่าง ๆ สิทธิในที่ดิน สิทธิชุมชน สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และชนพื้นเมืองดั้งเดิม เป็นต้น

                คณะกรรมการฯ รับทราบพัฒนาการตลอดจนความพยายามของไทยในการปรับปรุงมาตรการที่เกี่ยวข้องในประเด็นสิทธิมนุษยชน รวมทั้งขอบคุณคณะผู้แทนไทยที่พยายามชี้แจงประเด็นคำถามของคณะกรรมการอย่างละเอียด

                การหารือเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และอยู่บนพื้นฐานของการแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงวิชาการ โดยแม้ว่าประเด็นคำถามของคณะกรรมการจะมีจำนวนมากและหลายประเด็นมีความซับซ้อน แต่คณะผู้แทนไทยได้ตอบข้อซักถาม  ตลอดจนจัดทำประเด็นคำตอบและข้อมูลเพิ่มเติมให้คณะกรรมการภายหลังการประชุม ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติปกติของคณะกรรมการฯ

                 การเข้าร่วมการรายงานสะท้อนความมุ่งมั่นและเจตนารมณ์ของไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ยิ่งไปกว่านั้น เป็นโอกาสในการเรียนรู้และรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนของไทยให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกติกาดังกล่าวยิ่งขึ้น สำหรับขั้นตอนการดำเนินการในห้วงต่อไปนั้น กระทรวงยุติธรรมจะนำเสนอผลการรายงานในครั้งนี้ พร้อมด้วยข้อสังเกตโดยสรุปของคณะกรรมการ (Concluding Observations) เพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตของคณะกรรมการไปปฏิบัติตามความเหมาะสมต่อไป