สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกสนใจขยายความร่วมมือทางวิชาการ และการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกสนใจขยายความร่วมมือทางวิชาการ และการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.พ. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,462 view
          คณะผู้แทนไทย นำโดยรองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (นายไพศาล หรูพาณิชย์กิจ) เดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (Democratic Republic of the Congo – DRC) ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เพื่อติดตามผลการอบรมการปลูกข้าวแก่คองโก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือไตรภาคีไทย – ญี่ปุ่น – แอฟริกา เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในแอฟริกาในการเพิ่มผลผลิตข้าว
          คณะผู้แทนได้มีโอกาสพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง เกษตร รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของคองโก ซึ่งกล่าวชื่นชมโครงการความร่วมมือดังกล่าว และแสดงความปรารถนาที่จะเห็นการขยายความร่วมมือทางวิชาการในด้านอื่น ๆ ต่อไป
          ในโอกาสนี้ ฝ่ายไทยยืนยันความพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการในด้านอื่น ๆ กับคองโกในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ โครงการทุนอบรมระยะสั้น (Annual International Training Courses – AITC) และระดับปริญญาโท (Thai International Postgraduate Program – TIPP) ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีผู้แทนจากคองโกสมัครรับทุนดังกล่าว นอกจากนี้ ยังได้เชิญชวนให้คองโกเข้าร่วมโครงการพัฒนาชุมชนยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งคองโกแสดงความสนใจอย่างมาก
          สื่อมวลชนหลายสำนักของคองโกให้ความสนใจขอสัมภาษณ์คณะผู้แทนไทย และยินดีที่ได้ทราบถึงโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับคองโก
          คองโกมองประเทศไทยว่า เป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในหลายสาขา ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาของคองโก ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่สองในแอฟริกา (ใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ ๔.๕ เท่า) มีประชากรเกือบ ๘๐ ล้านคน อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่ยังเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกประเทศหนี่ง
          อนึ่ง กรมความร่วมมือระหว่างประเทศดำเนินการให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศกำลังพัฒนา ตามนโยบายของรัฐบาลและความต้องการของประเทศคู่ร่วมมือ ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี ในรูปแบบโครงการความร่วมมือ การให้ทุนการศึกษา ฝึกอบรมและศึกษาดูงาน การจัดส่งวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งการส่งผู้เชี่ยวชาญและอาสาสมัครไทยไปปฏิบัติงาน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ในประเทศคู่ร่วมมือ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ