กระทรวงการต่างประเทศจัดหน่วยหนังสือเดินทางเคลื่อนที่บริการประชาชนที่จังหวัดอ่างทอง ระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

กระทรวงการต่างประเทศจัดหน่วยหนังสือเดินทางเคลื่อนที่บริการประชาชนที่จังหวัดอ่างทอง ระหว่างวันที่ ๒๕ – ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.พ. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,675 view
กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมการกงสุล มีกำหนดจัดหน่วยบริการหนังสือเดินทางเคลื่อนที่เพื่อให้บริการรับคำร้องขอหนังสือเดินทางประเภทบุคคลทั่วไป (ไม่รวมหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางราชการและหนังสือเดินทางของพระภิกษุ) ในวันเสาร์ที่ ๒๕ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐ – ๑๖.๓๐ น. ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลาง จังหวัดอ่างทอง เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน โดยประชาชนจะได้รับเล่มหนังสือเดินทางผ่านทางไปรษณีย์ภายใน ๑ สัปดาห์หลังจากที่ยื่นคำร้องฯ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเดินทางไปยื่นคำร้องฯ ในวันและเวลาดังกล่าว พร้อมยื่นเอกสารประกอบดังต่อไปนี้ 
 
เอกสารประกอบการขอหนังสือเดินทาง
กรณีผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับจริง) ที่มีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักที่ยังไม่หมดอายุและไม่ถูกยกเลิกการใช้งาน
กรณีผู้เยาว์ (อายุต่ำกว่า ๒๐ ปีบริบูรณ์)
๑. บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับจริง) /กรณีอายุยังไม่ถึง ๑๕ ปี ใช้สูติบัตร (ฉบับจริง) ที่มีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก หรือผู้เยาว์อายุ ๗ ปี ขึ้นไป ที่มีบัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ให้ใช้บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับจริง)
๒. ทะเบียนบ้านหรือสำเนาทะเบียนบ้านที่มีชื่อผู้ยื่นคำร้องถูกต้อง และระบุเลขประจำตัวประชาชนของบิดา - มารดา ให้ถูกต้อง (ไม่อยู่ระหว่างการย้ายหรืออยู่ในทะเบียนบ้านกลางหรือขัดข้องด้วยเหตุอื่น)
๓. บัตรประจำตัวประชาชนของบิดาและมารดา (ฉบับจริง) ที่ยังไม่หมดอายุ
๔. บิดาและมารดาต้องมาลงนามให้ความยินยอมแก่ผู้เยาว์ทั้งสองคน
๔.๑ กรณีบิดาและมารดามิได้จดทะเบียนสมรสและผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะของมารดาแต่ผู้เดียว ให้มารดาเป็นผู้ลงนามพร้อมแสดงหนังสือรับรองการปกครองบุตรที่ออกโดยอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น (ฉบับจริง)
๔.๒ กรณีบิดาและมารดาจดทะเบียนหย่า ให้ผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์แต่ผู้เดียวที่ระบุในบันทึกการหย่า เป็นผู้ลงนามให้ความยินยอมพร้อมกับแสดงบันทึกการหย่า (ฉบับจริง)
๔.๓ กรณีบิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งไม่สามารถมาลงนามให้ความยินยอมได้ ให้ผู้นั้น ทำหนังสือยินยอมจากอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น (ฉบับจริง) มาแสดง
๕. ใบเปลี่ยนชื่อหรือสกุลฉบับจริง ของผู้เยาว์ บิดาและมารดา (หากมี) 
 
ค่าธรรมเนียมการทำหนังสือเดินทาง
: ค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทาง ๑,๐๐๐ บาท
: ค่าส่งไปรษณีย์ (EMS) ๔๐ บาท
 
ขั้นตอนการทำหนังสือเดินทาง 
๑. แสดงเอกสาร
๒. วัดส่วนสูง
๓. กรอกชื่อภาษาอังกฤษและที่อยู่สำหรับจัดส่งไปรษณีย์
๔. สแกนลายนิ้วมือ ถ่ายรูป และลงลายมือชื่อ
๕. ชำระค่าธรรมเนียม
 
คำแนะนำ
๑. ผู้มีหนังสือเดินทางที่มีอายุการใช้งานเหลือ ๖ เดือนหรือน้อยกว่า ควรขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ โดยนำหนังสือเดินทางเล่มเก่ามายกเลิกด้วย
๒. ผู้รับบริการจะได้รับเล่มหนังสือเดินทางทางไปรษณีย์ภายใน ๑ สัปดาห์ โดยกรมการกงสุลจะจัดส่งตามที่อยู่ที่ผู้รับบริการระบุไว้ ทั้งนี้ ขอให้ผู้รับบริการกรอกที่อยู่ไปรษณีย์ให้ถูกต้องชัดเจน เพื่อป้องกันการสูญหายและความล่าช้าในการจัดส่ง กรณีไม่ได้รับเล่มหนังสือเดินทางตามกำหนดโปรดติดต่อฝ่ายไปรษณีย์ กองหนังสือเดินทาง กรมการกงสุล โทร ๐ ๒๒๐๓ ๕๐๐๐ ต่อ ๓๒๔๐๘ – ๙ หรือ ๓๒๔๕๑ – ๒