พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๙

พิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 26 ม.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,432 view

               สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๙ ในวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๖๐ เวลา ๑๗.๓๐ น. ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พร้อมทั้งพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล พร้อมคู่สมรส ในวันเดียวกัน ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เวลา ๑๙.๓๐ น.

               สำหรับผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับพระราชทานรางวัลฯ นั้น มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้พิจารณากลั่นกรองจากผู้ได้รับการเสนอในปี ๒๕๕๙ จำนวน  ๕๙ คน จาก  ๒๔  ประเทศ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ ซึ่งมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานการประชุมฯ ได้พิจารณาและมีมติตัดสินมอบรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๕๙ ให้แก่บุคคล ดังนี้

                สาขาการแพทย์ ได้แก่ เซอร์เกรกอรี พอล วินเทอร์ จากสหราชอาณาจักร

                เซอร์เกรกอรี เป็นนักชีวเคมีชั้นนำของโลกผู้พัฒนาเทคโนโลยีในการสร้างและดัดแปลงโมเลกุลของแอนติบอดีให้มีประสิทธิภาพสูงและสามารถใช้ได้กับร่างกายมนุษย์ (antibody humanization)ในอดีตแอนติบอดีที่ใช้นั้น ได้มาจากเซลล์ของหนูเป็นหลัก ซึ่งเมื่อฉีดเข้าสู่มนุษย์ร่างกาย จะถือเป็นสิ่งแปลกปลอม และเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน ทำให้ไม่สามารถใช้รักษาโรคได้  เซอร์เกรกอรีจึงได้พัฒนาเทคโนโลยีในการดัดแปลงโมเลกุลแอนติบอดีของหนูให้เป็นโมเลกุลเสมือนกับแอนติบอดีของมนุษย์ โดยการเปลี่ยนถ่ายทดแทนลำดับพันธุกรรมในตำแหน่งที่สำคัญอย่างเป็นระบบ ทำให้โมเลกุลแอนติบอดีใหม่ที่ได้ยังคงสามารถจับกับเป้าหมายได้อย่างจำเพาะ แต่มีโครงสร้างโมเลกุลเสมือนแอนติบอดีของมนุษย์ที่ไม่เป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกายทำให้สามารถใช้รักษาโรคในมนุษย์ได้ เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนี้ทำให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์เป็นอย่างมาก และเป็นพื้นฐานสำคัญที่นำไปสู่การพัฒนาแอนติบอดีจำนวนมากซึ่งเป็นยากลุ่มใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาโรคที่เดิมรักษาได้ยากและมีผลข้างเคียงสูง เช่น โรคกลุ่มภูมิคุ้มกัน โรครูมาตอยด์ และโรคมะเร็ง ตลอดจนเกิดการพัฒนายาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้ป่วยนับร้อยล้านคนทั่วโลก ปัจจุบันเซอร์เกรกอรี ดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร

                 สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ วลาดีเมียร์ ฮาชินสกี จากประเทศแคนาดา

                 ศาสตราจารย์นายแพทย์ฮาชินสกี เป็นผู้นำด้านโรคหลอดเลือดสมองและภาวะความจำเสื่อมจากปัญหาหลอดเลือด ศาสตราจารย์นายแพทย์ฮาชินสกี ร่วมกับ นายแพทย์จอห์น ดับเบิลยู นอร์ริส จัดตั้งหอผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดีสำหรับการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และถือเป็นมาตรฐานการรักษาจวบจนปัจจุบัน นอกจากนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ฮาชินสกีเป็นผู้ริเริ่มนำคำว่า "เบรนแอทแทค" (brain attack) มาใช้ เพื่อสื่อถึงความฉุกเฉินของโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันรวมทั้งเป็นผู้ค้นพบบทบาทที่สำคัญของสมองส่วนอินซูล่าร์ ซึ่งมีผลต่อการเต้นผิดปรกติของหัวใจ และนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน การค้นพบดังกล่าวทำให้ลดอัตราการตายของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างมาก นอกจากนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์ฮาชินสกี ยังได้ผลักดันให้เกิดโครงการต่างๆ เพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อม ผ่านการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ผลงานของศาสตราจารย์นายแพทย์ฮาชินสกี ทำให้วงการแพทย์สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และลดอัตราการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ในผู้ป่วยนับล้านคนทั่วโลก ปัจจุบันศาสตราจารย์นายแพทย์ฮาชินสกี ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิศิษฐ์ มหาวิทยาลัยเวสเทิร์นออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา

                 รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี แห่งการพระราชสมภพ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ ๑ รางวัล และด้านการสาธารณสุข  ๑ รางวัล เป็นประจำทุกปี แต่ละรางวัลประกอบด้วยเหรียญรางวัลประกาศนียบัตร และเงินรางวัลจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ

                 บุคคลทั่วไปสามารถรับชมพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลได้ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี (ช่อง ๙ อสมท.) และทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง ๑๑) ซึ่งจะถ่ายทอดสดงานพิธีพระราชทานรางวัลฯ และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจะถ่ายทอดเสียงภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา ๑๗.๑๐ น. นอกจากนี้ สามารถรับชมการถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทางเว็บไซต์ของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ที่ www.princemahidolaward.org