การประกวดสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา ในหัวข้อ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs)”

การประกวดสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา ในหัวข้อ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs)”

วันที่นำเข้าข้อมูล 20 ม.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,937 view

เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม 25๖๐ นายชัยสิริ อนะมาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลแก่เยาวชนที่ได้รับรางวัลจากการประกวดการกล่าวสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา ในหัวข้อ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEP for SDGs)” ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ

การประกวดดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่กระทรวงการต่างประเทศจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนไทยในการผลักดันความร่วมมือด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy – SEP) ในกลุ่ม ๗๗ และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals – SDGs) ตลอดจนให้สาธารณชนได้ทราบถึงความเชื่อมโยงและการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติหรือประยุกต์ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการฯ ได้มอบรางวัลซึ่งประกอบด้วย โล่เกียรติยศและเงินรางวัลเพื่อเป็นทุนการศึกษา ให้แก่เยาวชน ดังนี้

          ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

          - รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวจณิสตา เลื่อนผลเจริญชัย (International School Bangkok กรุงเทพฯ)

          - รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๑ ได้แก่ นางสาวฐิตวันต์ เนินเพิ่มพิสุทธิ์ (โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จังหวัดพิษณุโลก)

          - รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๒ ได้แก่ นางสาวธัญพร ทรงประเสริฐชัย (โรงเรียนอัสสัมชัญสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ)

          - รางวัลชมเชย ได้แก่ (๑) นางสาวกันติชา ธรรมกุล (โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า กรุงเทพฯ) และ (๒) นางสาววริศรา พนายิ่งไพศาล (โรงเรียนชลกันยานุกูล จังหวัดชลบุรี)

          ระดับอุดมศึกษา

          - รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายพชร อังศุสุกนฤมล (คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

          - รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๑ ได้แก่ นายพชรพล พรหมทัต (คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

          - รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๒ ได้แก่ นายสิริวิชญ์ ปุษยไพบูลย์ (คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ)

          - รางวัลชมเชย ได้แก่ (๑) นางสาวพริมา ภู่พรชัย (คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) และ (๒) นางสาวสิริภัทรา พรหมทา (คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

โดยสำหรับผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศทั้งสองรายยังจะได้ร่วมทำหน้าที่ผู้แทนเยาวชนไทยในการประชุม ECOSOC Youth Forum 2017 ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ระหว่างวันที่ ๓๐–๓๑ มกราคม ๒๕๖๐ ด้วย
 

          ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการฯ ได้ให้โอวาทแก่เยาวชนผู้เข้าร่วมการประกวดตอนหนึ่งว่า การที่เยาวชนให้ความสนใจหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ เนื่องจากเป็นการสืบสานพระราชปณิธานและพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงขอให้ไม่หยุดที่จะเรียนรู้และแบ่งปัน ดังที่ทราบว่าก่อนหน้าการประกวด เยาวชนได้เข้าร่วมโครงการค่ายเยาวชนกลุ่ม ๗๗ กับการพัฒนาที่ยั่งยืน ระหว่างวันที่ 12 – 15 มกราคม 2560 มาแล้ว ก็เป็นโอกาสให้ได้ทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนกับผู้แทนเยาวชนจากประเทศในกลุ่ม 77 จำนวน 14 ประเทศ รวม ๑๕ คน ในเรื่องดังกล่าว การเผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต้องเริ่มจากตัวเองก่อนให้มีความเข้าใจและนำไปปฏิบัติ จากนั้นก็ค่อย ๆ ขยายออกไปยังบุคคลและสังคมรอบข้าง หรือที่เรียกว่า “การระเบิดจากข้างใน” ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้สนับสนุนการมีบทบาทที่สร้างสรรค์ของเยาวชนในฐานะ “ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง” มาโดยตลอดผ่านโครงการยุวทูตความดี ซึ่งทำให้เกิดเครือข่ายยุวทูตความดีในโรงเรียนต่าง ๆ ทุกภูมิภาคของประเทศไทยกว่า ๒,๐๐๐ โรงเรียน