ความเห็นต่อรายงานประจำปีขององค์กร Human Rights Watch

ความเห็นต่อรายงานประจำปีขององค์กร Human Rights Watch

วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ม.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,805 view

ตามที่องค์กร Human Rights Watch (HRW) ได้จัดทำและเผยแพร่รายงานประจำปี ๒๕๖๐ (World Report 2017) โดยได้ระบุสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพของประชาชนในประเทศไทย นั้น กระทรวงการต่างประเทศขอชี้แจง ดังนี้

HRW ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่ใช่รัฐบาล (Non-Governmental Organisation) จัดทำรายงานลักษณะดังกล่าวเป็นประจำทุกปี เพื่อสรุปสถานการณ์ภาพรวมด้านสิทธิมนุษยชนของทุกประเทศทั่วโลก โดยสถานการณ์ในประเทศไทยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของรายงาน

รัฐบาลไทยรับทราบรายงานดังกล่าวซึ่งโดยภาพรวมเห็นว่า เป็นรายงานที่ขาดความสมดุล โดยข้อมูลที่ใช้ประกอบรายงานเป็นข้อมูลเก่าและไม่ได้คำนึงถึงความคืบหน้าและความพยายามส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ฝ่ายไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม อาทิ

(๑) การดำเนินการตาม Roadmap ของรัฐบาลมีความคืบหน้าตามลำดับโดยมีเป้าหมายในการนำพาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง สังคมที่ปรองดองและบ้านเมืองที่มีเสถียรภาพ ซึ่งขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ในระยะที่ ๒ ของ Roadmap คือ การปฏิรูปในทุกด้าน เพื่อวางรากฐานที่แข็งแรงและนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ควบคู่กับการจัดทำและปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งปัจจุบัน ได้ประกาศใช้แล้วมากกว่า ๑๙๐ ฉบับ โดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่สั่งสมมานาน ซึ่งรวมถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำและสิทธิมนุษยชน อาทิ ความเท่าเทียมทางเพศ ปัญหาการค้ามนุษย์ การทำประมงผิดกฎหมาย สิทธิแรงงานทั้งนี้ การวางรากฐานที่สำคัญเหล่านี้จะเอื้อต่อการก้าวเข้าสู่ระยะที่ ๓ คือการจัดเลือกตั้งตาม Roadmap ที่ได้กำหนดไว้ และการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองที่ยั่งยืนภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ 

(๒) ประเทศไทยลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for Protection of All Persons from Enforced Disappearance - ICPPED) เมื่อปี ๒๕๕๕ และอยู่ระหว่างออกกฎหมายภายในเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าว กล่าวคือ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... ซึ่งปัจจุบัน ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

(๓) ในประเด็นผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา ภายหลังจากที่เมียนมามีพัฒนาการทางการเมืองในเชิงบวกรัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมาและสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees – UNHCR) ในการอำนวยความสะดวกส่งผู้หนีภัยการสู้รบชาวเมียนมา จำนวน ๗๑ คนกลับประเทศด้วยความสมัครใจในเดือน ต.ค. ๒๕๕๙ โดยคณะทำงานร่วมซึ่งมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วมจะพบเพื่อหารือเกี่ยวกับการส่งผู้หนีภัย การสู้รบ ที่ยังตกค้างอีก ๑๐๒,๐๐๐ คน กลับประเทศ ซึ่ง UNHCR จะให้ความช่วยเหลือในการส่งกลับด้วย ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวจะช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับทุกฝ่ายเพื่อให้การส่งกลับผู้หนีภัยการสู้รบและการนำผู้หนีภัยการสู้รบกลับคืนสู่สังคมอย่างถาวรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

รัฐบาลจะยังคงมุ่งมั่นในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และยึดมั่นการดำเนินการให้สอดคล้องพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อผลประโยชน์ของสังคมและประชาชนไทยต่อไป