กระทรวงการต่างประเทศจัดการสัมมนาและตรวจสภาพภูมิประเทศตามแนวชายแดนไทย-ลาว บริเวณแก่งผาได ผาตั้ง และภูชี้ดาว จังหวัดเชียงราย

กระทรวงการต่างประเทศจัดการสัมมนาและตรวจสภาพภูมิประเทศตามแนวชายแดนไทย-ลาว บริเวณแก่งผาได ผาตั้ง และภูชี้ดาว จังหวัดเชียงราย

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ม.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,495 view

เมื่อวันที่ ๗ – ๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดสัมมนาเกี่ยวกับการบริหารจัดการชายแดน  โดยมีนายธัชชยุติ ภักดี ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ด้านการบริหารจัดการชายแดน คณะผู้แทนจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย นายอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ รวม ๕๐ คน เข้าร่วมการสัมมนาฯ

กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) ไทย – ลาว ของฝ่ายไทย ได้จัดการสัมมนาดังกล่าวขึ้น เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่และการจัดทำหลักเขตแดน ในบริเวณดังกล่าว นอกจากนี้ การจัดการสัมมนาฯ ยังสอดรับกับมติของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย – ลาว เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๙ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้พัฒนาการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาว ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาร่วมกันในบริเวณอื่นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นว่ามีศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวร่วมกันได้ โดยพื้นที่บริเวณแก่งผาไดและผาตั้ง จังหวัดเชียงราย นับเป็นพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์และมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวข้ามแดนร่วมกันและจะช่วยผลักดันให้การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย – ลาว เป็นไปอย่างต่อเนื่องและประสบผลสำเร็จ รวมทั้งตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลที่มิให้ปัญหาเรื่องเขตแดนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และนำความเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงภาคประชาสังคม มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาด้วย

การกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านให้มีการพัฒนาร่วมกันเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สามารถร่วมกันพัฒนาในมิติต่าง ๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติได้ การสัมมนาและตรวจพื้นที่ในครั้งนี้ กอปรกับการส่งเสริมการพัฒนาการเชื่อมโยงด้านการท่องเที่ยวข้ามแดนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นผลในเชิงบวก ทำให้ประชาชนในพื้นที่เข้าใจและมีทัศนะที่เปิดกว้างเกี่ยวกับงานด้านการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน โดยต่างมุ่งหวังให้มีการเชื่อมโยงการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวข้ามแดน อันจะนำไปสู่การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันและสร้างผลประโยชน์ที่เท่าเทียม รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ยั่งยืนต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ