ผลการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ ๒

ผลการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ ๒

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 ต.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,724 view

               รัฐบาลไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue – ACD Summit) ครั้งที่ ๒ ซึ่งมีผู้นำและผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิก ๓๔ ประเทศเข้าร่วมการประชุม ภายใต้หัวข้อหลัก “เอเชียหนึ่งเดียว หลากหลายในพลัง” (One Asia Diverse Strengths) สะท้อนให้เห็นถึงเป้าหมายของ ACD ในการระดมศักยภาพและจุดแข็งที่หลากหลายในการสร้างความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียและประชาคมเอเชียที่ยั่งยืน

               การรวมตัวของผู้นำ ACD ที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับ ACD นับจากการก่อตั้ง ACD ในปี ๒๕๔๕ โดยผู้นำ ACD เห็นพ้องกำหนดทิศทางความร่วมมือที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยืงยืนและครอบคลุมของเอเชียและการสร้างประชาคมเอเชียในอนาคต โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

               หนึ่ง รับรองวิสัยทัศน์ความร่วมมือเอเชีย ค.ศ. ๒๐๓๐ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการสร้างประชาคมเอเชียในอนาคตประชุมอีก ๑๔ ปีข้างหน้า โดยเน้นการพัฒนาความร่วมมือใน ๖ เสาหลักที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ค.ศ. ๒๐๓๐ (SDGs) ได้แก่ (๑) ความเชื่อมโยง (๒) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (๓) การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (๔) ความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ (๕) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (๖) การส่งเสริมแนวทางสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน

                สอง รับรองปฏิญญากรุงเทพฯ และแผนปฏิบัติการพิมพ์เขียวระยะ ๕ ปี (ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๒๑) เพื่อพัฒนาวิสัยทัศน์ร่วมไปสู่การปฏิบัติ โดยแผนปฏิบัติการพิมพ์เขียวดังกล่าวเป็นข้อเสนอแนะให้ประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทางในการดำเนินความร่วมมือใน ๖ เสาหลักของ ACD ให้เป็นรูปธรรม

                ไทยขอขอบคุณประเทศสมาชิกต่างๆ ที่เสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักในสาขาต่างๆ อาทิ จีนและยูเออีในสาขาความมั่นคงด้านอาหาร น้ำและพลังงาน เกาหลีใต้ในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อิหร่านในด้านวัฒธรรมและการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยทุกประเทศจะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างกันและกำหนดแผนการทำงาน รวมทั้งกรอบเวลาต่อไป โดยจะรายงานผลในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ในช่วงเดือนกันยายน๒๕๖๐

                 ส่วนไทยเสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อนในด้านการส่งเสริมแนวทางสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ โดยจะนำเสนอประสบการณ์ในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการพัฒนาที่ประสบความสำเร็จในบริบทต่างๆ ขณะที่ประเทศอื่น เช่น ภูฏาน จะนำเสนอเรื่องความสุขมวลรวมประชาชาติ เป็นต้น

                 สาม รับรองแถลงการณ์ ACD ประกาศบทบาทของเอเชียในการกระตุ้นการเติบโตผ่านความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเชื่อมโยง เพื่อย้ำถึงบทบาทและโอกาสของเอเชียในปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาสำคัญที่เศรษฐกิจโลกกำลังค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ขณะที่ยังต้องเผชิญกับความผันผวนและความท้าทายต่างๆ ที่ประชุมเชื่อมั่นว่า เอเชียยังคงเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพและความแข็งแกร่ง และเป็นช่วงเวลาแห่ง “ศตวรรษของเอเชีย” ในฐานะเป็นตัวเร่งพลวัตการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก โดย ACD เป็นกรอบความร่วมมือที่มีศักยภาพและสามารถใช้จุดแข็งและพลังที่หลากหลายของประเทศสมาชิกเพื่อประโยชน์ร่วมกันได้ 

                ทั้งนี้ ไทยได้เสนอที่จะทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกและทุกภาคส่วนเพื่อจัดตั้งกลไกการทำงานเพื่อกระตุ้นพลวัตการเติบโต (Sub-Working Group on Reigniting Growth) ภายใต้เสาหลักด้านความเชื่อมโยง
อย่างเป็นรูปธรรมภายในการประชุมรัฐมนตรี ACD คู่ขนานการประชุม UNGA72 เดือนกันยายน ๒๕๖๐ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือในด้านดังกล่าว

                 สี่ เห็นพ้องกับการจัดตั้งสำนักเลขาธิการ ACD ขึ้น ที่คูเวต เพื่อเป็นเครื่องมือส่งเสริมการดำเนินงานของ ACD โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก การจัดประชุมและกิจกรรมต่างๆ ในรอบปี โดยสมาชิก ACD ขอบคุณคูเวตในฐานะประเทศที่ตั้งของสำนักเลขาธิการ ACD และการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการ ACD

                 การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ผู้นำ ACD มีโอกาสได้รับฟังข้อเสนอแนะของตัวแทนภาคเอกชนจากเวทีการประชุมกรอบความร่วมมือเอเชียภาคธุรกิจ (ACD Connect 2016 Business Forum) ซึ่งได้เสนอแนวทางความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนในการพัฒนาเอเชียในหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการเงินผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ FinTech รวมทั้งการเร่งระดมทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคจากแหล่งเงินทุนสำคัญต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของเอเชีย

                 การส่งเสริมความร่วมมือในลักษณะหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน (Public-Private-People Partnership – 4Ps) เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ผู้นำเห็นควรผลักดันในการดำเนินความร่วมมือในกรอบ ACD ให้เข้มแข็งมากขึ้น โดยเห็นว่า ACD จะต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคประชาชนซึ่งถือเป็นหนึ่งในกำลังหลักที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือในประเทศและภูมิภาคเอเชีย โดยภูมิภาคเอเชียจะไม่ทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง แต่จะก้าวไปข้างหน้าไปด้วยกัน

                ท้ายสุดนี้ ที่ประชุมขอบคุณและชื่นชมการเป็นเจ้าภาพและบทบาทของไทยใน ACD ซึ่งเป็นการเพิ่มพลวัตอย่างมีนัยสำคัญ และขอบคุณยูเออีในฐานะประธานใหม่ของ ACD ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพของยูเออีในการจัดการประชุมรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ ๑๕ ณ กรุงอาบูดาบี ในเดือนมกราคม ๒๕๖๐ เพื่อต่อยอดมติสำคัญของการประชุม ACD Summit
ในครั้งนี้ โดยเน้นความร่วมมือด้านพลังงานทดแทนในภูมิภาค ACD นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แสดงความยินดีอย่างยิ่งที่อิหร่านจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ACD Summit ครั้งที่ ๓ ในปี ๒๕๖๑ ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการติดตามผลการประชุม ACD Summit ที่กรุงเทพฯ ต่อไป

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ