เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๙ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน ได้นำเชฟไทยจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต จำนวน ๒ คน ไปเข้าร่วมการแข่งขันในงาน Spice Route Culinary Festival ซึ่งจัดขึ้นที่ Bolgatty Palace and Island Resort ที่เมืองโกจี (Kochi) รัฐเกรละ (Kerala State) ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที ๒๒-๒๖ กันยายน ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ทีมตัวแทนประเทศไทย ได้รับรางวัลที่สาม โดยเชฟจากฝรั่งเศส และอียิปต์ ได้รางวัลชนะเลิศ และรางวัลที่สองตามลำดับ
สำหรับเชฟไทยที่เข้าไปร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ประกอบด้วยนายทรงพล วิธานพัฒนา หรือเชฟผัก และนายจารึก ศรีอรุณ หรือเชฟจึ๊ก ซึ่งทั้งคู่เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยเมนูที่นำเสนอในการแข่งขันเป็นสุดยอดอาหารไทย เช่น ต้มยำกุ้ง ยำหัวปลี ผัดไท แกงมัสมั่นเนื้อ ขนมหม้อแกง และลูกชุบ เป็นต้น ที่นำมาสร้างสรรค์ใหม่โดยใช้เครื่องเทศจากรัฐเกรละ ของอินเดีย
การแข่งขันดังกล่าวใช้เวลารวม ๓ ชั่วโมง โดยเชฟที่เข้าร่วมการแข่งขันต้องทำอาหาร ๓ อย่าง ให้กรรมการได้ชิม โดยมีเงื่อนไขว่าต้องนำเสนออาหารประจำชาติของแต่ละประเทศ แต่ใช้วัตถุดิบในการปรุงอาหารจากรัฐเกรละไม่น้อยกว่า ๘๐% รวมทั้งจะต้องสร้างสรรค์เมนูขึ้นใหม่โดยใช้แรงบันดาลใจและวัตถุดิบเครื่องเทศของอินเดีย
การแข่งขันครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง UNESCO กับ Kerala Tourism โดยเน้นให้เชฟผู้เข้าแข่งขันจากทั้งหมดรวม ๑๕ ประเทศ ๑๗ ทีม ได้ศึกษาเรื่องราวจากเส้นทางสายเครื่องเทศ (Spice Route) ซึ่งเชื่อมโยงและร้อยเรียงเรื่องราวในประวัติศาสตร์การค้าขายและขนส่งเครื่องเทศระกว่างเมืองโกจี รัฐเกรละ ซึ่งตั้งอยู่ติดชายฝั่งเทเลอาหรับ กับประเทศต่างๆ กว่า ๓๐ ประเทศ มานานกว่า ๒,๐๐๐ ปี
เชฟไทยเปิดเผยความรู้สึกหลังได้รับรางวัลจากการแข่งขันว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัล สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย โดยการแข่งขันครั้งนี้ได้เตรียมตัวมาอย่างดี พร้อมเผยเตรียมตัวไปแข่งขันโอลิมปิกต่อที่ประเทศเยอรมนี
"ก่อนที่จะเดินทางมาแข่งขัน เราทั้งคู่ได้เตรียมตัวมาพอสมควร โดยได้ศึกษาและคัดเลือกเมนู วัตถุดิบและเครื่องเทศสำหรับปรุงอาหารเพื่อตอบโจทย์ที่ได้คือ การสร้างสรรค์เมนูอาหารไทยใหม่โดยผสมผสานวัตถุดิบและเครื่องเทศจากรัฐเกรละ ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายสำหรับการแข่งขัน ว่าจะทำอย่างไรที่จะผสมผสานให้ได้รสชาติที่ลงตัว และไม่สญเสียกลิ่นและรสอาหารไทย การได้รับรางวัลในครั้งนี้ รู้สึกดีใจ โดยภายหลังการแข่งขัน ตนเองแอบลุ้นว่าน่าจะมีโอกาสได้รับรางวัลใดรางวัลหนึ่ง แม้ทีมผู้เข้าแข่งขันจากประเทศอื่นๆ จะสามารถนำเสนอเมนูอาหารและการจัดแสดงที่มีความโดดเด่นไม่แพ้กัน" เชฟทรงพลกล่าว
ขณะที่เชฟจารึกกล่าวเพิ่มเติมว่า "อาหารไทยที่่นำมาเสนอในการแข่งขันครั้งนี้ แม้จะนำเสนอเพียง ๓ ประเภท คือ อาหารว่าง อาหารหลัก และอาหารหวาน แต่เราได้จัดเตรียมปรุงอาหารรวมถึง ๑๗ องค์ประกอบ ซึ่งถือเป็นงานที่หนัก แต่เราก็ได้พยายามทำกันอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ก่อนการแข่งขัน ระหว่างการเดินทางไปซื้อวัตถุดิบในตลาดสดในเมิองโกจี หากเราพบว่า เครื่องเทศใดมีความน่าสนใจ เราก็ได้เลือกที่จะนำมาทดลองปรุงอาหารในการแข่งขันแม้จะมิได้ตั้งใจที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบของอาหารแต่แรก ทั้งนี้ การเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ถือเป็นการเตรียมตัวของเราทั้งคู่ที่จะเข้าร่วมการแข้งขันโอลิมปิกด้านอาหาร ซึ่งถือเป็นรายการใหญ่ที่จะจัดขึ้นที่เมือง Erfurt ประเทศเยอรมนีในเดือนตุลาคมนี้ต่อไป"
นางสาวพรพิมล สุคันธวณิช รองกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน ซึ่งนำทีมเชฟไทยเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ให้ความเห็นว่า การเข้ามาร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างเสริมมิตรภาพระหว่างเชฟตัวแทนจากประเทศต่างๆ และเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน นอกจากนี้ การที่เชฟไทยได้รับรางวัลในครั้งนี้ได้สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยทั่วประเทศ ว่าเชฟไทยมีความสามารถ และอาหารไทยมีความเป็นสากล ไม่แพ้ชาติใดในโลก ทั้งนี้ สถานกงสุลใหญ่และสถานเอกอัครราชทูตไทยในอินเดียจะร่วมงานกับ UNESCO และ Kerala Tourism อย่างใกล้ชิดต่อไป และขอถือโอกาสขอบคุณเชฟไทยทั้งสองท่าน มหาวิทยาลัยสวนดุสิตและบริษัท การบินไทย จำกัด สำนักงานเมืองเจนไนและเมืองบังคาลอร์ที่ได้ให้การสนับสนุนการเข้าร่วมงานดังกล่าวของทีมเชฟไทยเป็นอย่างดี