เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๙ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในการประชุมระดับรัฐมนตรีกลุ่ม ๗๗ (Group of 77) ครั้งที่ ๔๐ ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก โดยการประชุมดังกล่าวจัดขึ้นทุกปีเพื่อให้รัฐมนตรีกลุ่ม ๗๗ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและทบทวนประเด็นที่กลุ่ม ๗๗ ให้ความสำคัญในปีที่ผ่านมา ตลอดจนประเด็นที่กลุ่มจะผลักดันต่อไป ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้ถูกระบุในปฏิญญาระดับรัฐมนตรีกลุ่ม ๗๗ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เลือกประธานกลุ่ม ๗๗ สำหรับปีถัดไป โดยเอกวาดอร์จะรับหน้าที่ประธานกลุ่ม ๗๗ ในปี ๒๕๖๐ ต่อจากไทย
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในช่วงพิธีเปิดโดยย้ำถึงบทบาทของไทยในการดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ ที่ได้ผลักดันผลประโยชน์ต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก โดยเฉพาะการวางรากฐานสำหรับการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไทยเห็นว่า การจะบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในอีก ๑๔ ปีข้างหน้าได้นั้น ประเทศสมาชิกต้องให้ความสำคัญกับ ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ (๑) การระดมทุนเพื่อการพัฒนาจากช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการค้าระหว่างประเทศ การลงทุน และการจัดเก็บภาษี (๒) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ผ่านการพัฒนาขีดความสามารถของประชาชน รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุกภาคส่วน เพื่อให้การพัฒนาไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง (Leave No One Behind) และ (๓) การพัฒนาองค์ความรู้ โดยเฉพาะผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมอันจะเป็นพื้นฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการพัฒนา และช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด นอกจากนั้น เราต้องสร้างหุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนา ดังที่ไทยได้พยายามแสดงบทบาทเป็นสะพานเชื่อมระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ตลอด ๙ เดือนที่ผ่านมา จนเริ่มเห็นผลจากการที่กลุ่ม ๗๗ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 ที่เพิ่งจัดขึ้น ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ ประธานสมัชชาสหประชาชาติ และเลขาธิการสหประชาชาติได้เข้าร่วมประชุม และกล่าวถ้อยแถลงชื่นชมการทำหน้าที่กลุ่ม ๗๗ ของไทยในการผลักดันการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในวาระที่ ๓ หัวข้อ “การใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยกล่าวถึงความท้าทายใหม่ที่โลกกำลังเผชิญ กลุ่ม ๗๗ จึงต้องทบทวนเพื่อหาแนวทางการรับมือที่มีประสิทธิภาพ การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเป้าหมายร่วมกันของทุกคน ประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเข็มทิศนำทาง เน้นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยใช้ความรู้และคุณธรรมประกอบการตัดสินใจในทุกระดับและทุกสาขา ไม่เฉพาะการเกษตร แต่ยังใช้ได้ในการพัฒนาคน การบริหารจัดการทรัพยากร การบริหารธุรกิจและบริการ ฯลฯ ทำให้สามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกเป้าหมาย ครอบคลุม 5 P’s ได้แก่ People, Planet, Prosperity, Peace และ Partnership ถือเป็นแนวทางหนึ่งที่ใช้ได้จริงในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ปัจจุบันไทยมีโครงการความร่วมมือกับประเทศสมาชิกกลุ่ม ๗๗ ในแทบทุกทวีป และยินดีที่จะมีความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ผ่านความร่วมมือหุ้นส่วนทวิภาคี ความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคี รวมถึงกับกลุ่ม G20 ซึ่งจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม ๗๗ และเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่จะสร้างความเข้มแข็งจากภายใน แต่ละประเทศจะต้องร่วมมือร่วมใจกันเอาชนะปัญหาและเติบโตไปพร้อม ๆ กัน
ที่ประชุมได้เห็นชอบกับปฏิญญาระดับรัฐมนตรีกลุ่ม ๗๗ ซึ่งระบุเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งข้อริเริ่มในการสร้างหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา SEP for SDGs Partnership เป็นต้น