วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.ย. 2559
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรีในการอภิปรายทั่วไป
ของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๗๑
หัวข้อ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: แรงผลักดันสากลเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของเรา”
(The Sustainable Development Goals: a universal push to transform our world)
ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
วันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๙
ท่านประธานที่เคารพ
๑. เมื่อปีที่แล้วประชาคมโลกได้รับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ๒๐๓๐ ร่วมกันเพื่อผลักดันให้การพัฒนาของโลกดำเนินไปอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับ “คน” ทุกกลุ่ม เพิ่มการเข้าถึงโอกาสและความเจริญอย่างเท่าเทียม โดยไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง อันเป็นการปรับกระบวนทัศน์ด้านการพัฒนาครั้งสำคัญของสหประชาชาติให้ครอบคลุมและสามารถรับมือกับปัญหาและความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
๒. ปีนี้เป็นปีที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติครบ ๗๐ ปี และเป็นปีแรกที่เราเริ่มต้นนำวาระสำคัญของโลกสู่การปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นกรอบเซนไดเรื่องการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ความตกลงปารีสเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แผนปฏิบัติการระดมทุนเพื่อการพัฒนา และวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน เราจึงต้องช่วยกันทั้งโลกในการผลักดันสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง
๓. รัฐบาลไทยเชื่อว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากสันติภาพและความมั่นคง หรือหากสิทธิของประชาชนถูกละเมิดและไม่ได้รับการยอมรับ และในทางกลับกันสันติภาพและความมั่นคงก็จะไม่ยั่งยืนหากขาดการพัฒนาที่เหมาะสม หรือสิทธิของประชาชนถูกลิดรอน ทั้ง ๓ เสาหลักของสหประชาชาติ ดังกล่าวมีความเชื่อมโยง และเกื้อกูลกันอย่างแยกออกจากกันมิได้ กรณีผู้โยกย้ายถิ่นฐานและผู้พลัดถิ่นในช่วงที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างความเชื่อมโยงดังกล่าวที่แสดงให้เห็นด้วยว่า ไม่มีประเทศใดหลุดพ้นจากผลกระทบของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตและปัจจุบันในอีกมุมหนึ่งของโลกได้ และเราต้องร่วมกันรับผิดชอบหาทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ต้นเหตุอย่างยั่งยืน
๔. ในยุคปัจจุบันที่เราต้องเผชิญกับความท้าทายในหลากมิติที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน ความหลากหลายของประชากรกว่า ๗,๐๐๐ ล้านคน ในเกือบ ๒๐๐ ประเทศ เพิ่มความท้าทายในการรับมือกับปัญหา และการแสวงหาทางออกที่เป็นสากล เนื่องจากแต่ละประเทศมีแนวคิด ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ดังนั้น ประชาคมระหว่างประเทศต้องหาแนวทางและวิธีการที่จะทำให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ มีความเข้าใจ รับผิดชอบ และเคารพซึ่งกันและกัน ตลอดจนสามารถเข้าถึงโอกาส และสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ อย่างทัดเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ โดยเราทุกคนต้องเคารพและปฏิบัติตามพันธกรณีของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในประเด็นที่ส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมอย่างรุนแรง เช่น พันธกรณีเรื่องการลดอาวุธนิวเคลียร์
๕. การแบ่งปันความรับผิดชอบ พร้อมกำหนดกรอบและทิศทางการพัฒนาร่วมกันของประเทศสมาชิก ตลอดจนบทบาทของกลุ่มภูมิภาค กลุ่มการเมือง กลุ่มเศรษฐกิจ และกลไกความร่วมมือต่าง ๆ จึงเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะประเทศหนึ่งประเทศใดย่อมไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโลกได้โดยลำพัง
๖. การบรรลุเป้าหมายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี เพื่อสร้างแรงผลักดันสากลเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกของเรา
๗. ไทยได้รับเกียรติและโอกาสให้ทำหน้าที่ประธานกลุ่ม ๗๗ ในปีนี้ และได้วางเป้าหมายที่จะนำวิสัยทัศน์ระดับโลกข้างต้นมาปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จ โดยมีบทบาทประสาน ผลักดัน เชื่อมโยงผลประโยชน์ของกลุ่มฯ ในเวทีต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การได้รับเกียรติในฐานะประธานกลุ่ม ๗๗ ให้เข้าร่วมการประชุมของกลุ่ม ๒๐ เป็นครั้งแรก ที่นครหางโจว โดยไทยร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการผลักดันและขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี ๒๐๓๐ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะความสำคัญของการร่วมมือระหว่างกลุ่ม ๒๐ ในฐานะกลุ่มประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจการเงินกับกลุ่ม ๗๗ ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยลดความหวาดระแวง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและผลประโยชน์ร่วมกัน
๘. ไทยได้นำเสนอตัวอย่างประสบการณ์และบทเรียนของไทยในการก้าวข้ามผ่านอุปสรรคด้านการพัฒนาโดยใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมบนแนวคิดความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน พร้อมกับปลูกฝังคุณธรรม และพัฒนาองค์ความรู้ เพื่อให้สังคมพัฒนาได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำหลัก SEP ไปประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาในบริบทต่าง ๆ กันแล้วกว่า ๒๐ ประเทศ
๙. นับตั้งแต่รับตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ เมื่อต้นปี ไทยได้ดำเนินโครงการ SEP for SDGs Partnership การแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนา ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ซึ่งกันและกันเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเหมาะกับบริบทของแต่ละประเทศผ่านความร่วมมือทวิภาคี และไตรภาคีในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ กับประเทศที่เป็นหุ้นส่วนการพัฒนา และไทยยังพร้อมเชื่อมโยงความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม BRICS อาเซียน ฯลฯ ที่หันมาให้ความสำคัญกับวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคต่าง ๆ ที่มีอยู่ เพื่อสร้างแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกของเราให้ดีขึ้น โดยในเดือนตุลาคมนี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด Asia Cooperation Dialogue (ACD) ครั้งที่ ๒ ซึ่งสามารถหารือเพื่อส่งเสริมประเด็น SDGs ในระดับภูมิภาคต่อไปด้วย
๑๐. ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อต้นเดือนนี้ที่เวียงจันทน์ เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวถึงความสำคัญของกลไกระดับภูมิภาคที่จะช่วยส่งเสริมและผลักดันให้เกิดสันติภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผู้นำอาเซียนและไทยเชื่อว่า การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลกของเราไปในทางที่ดีขึ้น
๑๑. การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีนี้ นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมที่ทำให้ประชาชนอาเซียนใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นแล้ว การพัฒนาความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันยังนำไปสู่การลดความขัดแย้งและสร้างสันติภาพในภูมิภาคด้วย
ท่านประธานที่เคารพ
๑๒. ในระดับชาติ ไทยได้ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ตั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ ๑๒ และยุทธศาสตร์ชาติระยะ ๒๐ ปี พร้อมนำเป้าหมายเพื่อการพัฒนาดังกล่าวแปลงไปสู่การกำหนดนโยบายและมาตรการระดับชาติ ได้แก่ การยกระดับการบริการดูแลด้านสุขภาพ และส่งเสริมการศึกษาของประชาชนทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องและเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนไทย ผู้โยกย้ายถิ่นฐาน หรือแรงงานต่างชาติในประเทศ โดยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การรณรงค์ด้านสาธารณสุข เช่น การดื้อยาต้านจุลชีพ และส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จะช่วยพัฒนาโอกาสให้กับเด็กและเยาวชนทุกคนในประเทศ
๑๓. นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน เสรีภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเข้าถึงบริการพื้นฐานแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยได้วางโครงสร้างและปรับปรุงกฎหมายภายในเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมและยั่งยืน ออกกฎหมายเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ส่งเสริมสิทธิสตรี และให้ความคุ้มครองกับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ดูแลสวัสดิการเด็กแรกเกิด คนพิการและผู้สูงอายุ จัดที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย จัดสรรที่ดินทำกินแก่ผู้ยากไร้ เนื่องจากรัฐบาลตระหนักว่า กลุ่มคนเหล่านี้สามารถมีส่วนร่วมที่สำคัญในการผลักดัน เปลี่ยนแปลงสังคม และโลกของเราอย่างยั่งยืนได้
๑๔. ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไทยได้ให้สัตยาบันข้อตกลงปารีสแล้ว และขอเรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ เร่งให้สัตยาบันความตกลงฯ โดยเร็ว เพื่อแสดงออกซึ่งความมุ่งมั่น ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความรับผิดชอบร่วมกันต่อปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทบกับมวลมนุษยชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก
๑๕. ในด้านเศรษฐกิจ ไทยได้ดำเนินการภายใต้แนวคิด “ประเทศไทย ๔.๐” ซึ่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมีทิศทางและยั่งยืน ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนเน้นส่งเสริมการศึกษา การวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงกฎระเบียบให้เป็นสากล พร้อมขจัดปัญหาคอรัปชั่น เพื่อให้เอื้อต่อการทำธุรกิจและสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชน เพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตประเทศ
๑๖. ในประเด็นสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ไทยได้สนับสนุนภารกิจรักษาและสร้างสันติภาพของสหประชาชาติมาอย่างต่อเนื่อง โดยเจ้าหน้าที่รักษาสันติภาพของไทยได้เข้าร่วมภารกิจต่าง ๆ ราว ๒๐ ภารกิจ ซึ่งได้ใช้โอกาสดังกล่าวพัฒนาคนไปพร้อมกันด้วย โดยส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข สร้างสังคมที่เข้มแข็ง และพัฒนาประเทศต่อไปได้ในระยะยาว ซึ่งสอดคล้องกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ ๑๖ เรื่องสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๗. นอกจากนี้ ในการนำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติทั้ง ๑๗ ข้อมาปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ไทยเห็นว่า ไม่มีสูตรตายตัวในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่เป็นไปตามศักยภาพและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน ซึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศและความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างเอกภาพบนความแตกต่าง ด้วยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน
ท่านประธานที่เคารพ
๑๘. สำหรับสถานการณ์ภายในประเทศ รัฐบาลได้วางรากฐานเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ที่ผ่านมา ประชาชนได้ใช้สิทธิลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญตามวิถีทางประชาธิปไตยแล้ว และกำลังพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จ นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปตาม Roadmap ได้ในปลายปี ๒๕๖๐
๑๙. การออกเสียงลงประชามตินี้สะท้อนถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาลที่จะส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย โดยตระหนักถึงเสียงสะท้อนจากประชาคมระหว่างประเทศ รัฐบาลเข้ามาเพื่อดูแลสถานการณ์ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและความมั่นคง และเมื่อสถานการณ์บ้านเมืองดำเนินไปสู่สภาวะปกติสุขแล้ว รัฐบาลก็ผ่อนคลายมาตรการชั่วคราวที่ไม่จำเป็น เช่น การประกาศยกเลิกการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐบาลได้เน้นการแก้ไขปัญหาความมั่นคง การทุจริต การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมต่าง ๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังและรอการแก้ไข เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นตอซึ่งเป็นการวางรากฐานเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและส่งเสริมธรรมาภิบาล โดยหวังให้ประเทศไทยและประชาชนไทยเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพของสังคมโลกอย่างยั่งยืนต่อไป
๒๐. ท้ายที่สุดนี้ กระผมขอใช้โอกาสนี้ชื่นชมการปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการสหประชาชาติตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ที่ได้ริเริ่มและผลักดันประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นข้อริเริ่มการบูรณาการเรื่องสิทธิมนุษยชนในงานของสหประชาชาติ หรือวาระเพื่อมนุษยธรรม และขออวยพรให้เลขาธิการสหประชาชาติประสบความสำเร็จในภารกิจสำคัญอื่น ๆ ที่ต้องรับผิดชอบในอนาคต
ขอบคุณครับ
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **