วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ย. 2559
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๖-๘ กันยายน ๒๕๕๙ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๒๘ และ ๒๙ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง รวม ๑๕ การประชุม ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน การประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น การประชุมสุดยอดอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี การประชุมสุดยอดอาเซียน บวก ๓ การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ การประชุมสุดยอดแม่โขง-ญี่ปุ่น การประชุมสุดยอดอาเซียน-อินเดีย การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก ณ เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ในภาพรวม ที่ประชุมได้เน้นย้ำความสำคัญของ (๑) การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้อาเซียนและการปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ.๒๐๒๕ รวมทั้งแผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๑๖-๒๐๒๕ (๒) การรักษาความเป็นเอกภาพและความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาค เพื่อให้อาเซียนสามารถรับมือกับความท้าทายรูปแบบเก่าและรูปแบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งรุนแรง อาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี และปัญหาความมั่นคงทางทะเลซึ่งรวมถึงทะเลจีนใต้ (๓) การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา โดยเฉพาะการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ เช่น การยกระดับ FTA ทั้งในกรอบทวิภาคีและเร่งรัดเจรจาจัดทำ RCEP ให้แล้วเสร็จ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ จากประเทศคู่เจรจา รวมทั้งการหามาตรการเพื่อส่งเสริม MSMEs และการส่งเสริมความเชื่อมโยง และ (๔) การส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งการเร่งเสริมสร้างความตระหนักรู้และความรู้สึกร่วมในการเป็นพลเมืองอาเซียน (sense of belonging) โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปี การจัดตั้งอาเซียนในปี ๒๕๖๐
สิ่งที่ไทยได้ผลักดันในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่
๑) การออกแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนบวก ๓ ว่าด้วยการสูงวัยอย่างมีศักยภาพ
๒) การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในฐานะที่ไทยเป็นผู้ประสานงานอาเซียนในการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ
๓) การส่งเสริมความเชื่อมโยงตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ โดยคำนึงถึงความมั่นคงและปลอดภัยของพื้นที่ชายแดนผ่านการบริหารจัดการชายแดนที่มีประสิทธิภาพ
๔) การผลักดันให้ทะเลจีนใต้ให้เป็นทะเลแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาที่ยั่งยืน
๕) ไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้าอาเซียน - อินเดีย ในปี ๒๕๖๐ เพื่อฉลองความสัมพันธ์ ๒๕ ปี อาเซียน - อินเดีย
๖) การใช้ประโยชน์จากโครงการ ASEAN Connect ที่สหรัฐฯ จัดตั้งในการสร้าง Creative ASEAN
ในโอกาสการประชุมครั้งนี้ ผู้นำได้รับรองเอกสารร่วมกัน ๑๙ ฉบับ โดยเฉพาะแผนงานข้อริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน ฉบับที่ ๓ และแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ.๒๐๒๕ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ร่วมกับผู้นำจากประเทศสมาชิกอาเซียนลงนามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความเป็นหนึ่งเดียวในการตอบโต้ภัยพิบัติทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค (Declaration on One ASEAN, One Response: ASEAN Responding to Disaster as One in the Region and Outside Region) ด้วย
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **