นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซม ครั้งที่ ๑๑ (11th ASEM Summit : ASEM11)

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซม ครั้งที่ ๑๑ (11th ASEM Summit : ASEM11)

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 4,662 view


          ระหว่างวันที่ ๑๔ – ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙ พลเอก ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ ได้เดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดอาเซม ครั้งที่ ๑๑ (11th ASEM Summit : ASEM 11) ณ กรุงอูลานบาตอร์ มองโกเลีย โดยปีนี้เป็นวาระครบรอบ ๒๐ ปีของการก่อตั้งอาเซม ซึ่งถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ การประชุมครั้งนี้จึงจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “๒๐ ปีอาเซม หุ้นส่วนเพื่ออนาคตโดยการเชื่อมโยง” (20 Years of ASEM: Partnership for the Future Through Connectivity)
          ในการประชุมเต็มคณะ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับความร่วมมือในอนาคตของอาเซมในทศวรรษที่สามเพื่อให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วยการเน้นการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทั้งในด้านการเชื่อมโยงที่จับต้องได้ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายคมนาคม และที่จับต้องไม่ได้ เช่น ความสัมพันธ์ระดับประชาชน การศึกษา และวัฒนธรรม  รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การพัฒนาที่ยั่งยืน และการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร ลัทธิสุดโต่งและการก่อการร้าย

          ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวต่อที่ประชุมเต็มเต็มคณะ โดยเน้นประเด็นสำคัญ ได้แก่

          ๑) ความร่วมมือในการรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน โดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี โดยนำจุดแข็งของสองภูมิภาคมาส่งเสริมและเกื้อกูลกัน

          ๒) ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนสองภูมิภาค โดยการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การศึกษาการท่องเที่ยว และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์

          ๓) ความเชื่อมโยงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนำเสนอหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทางเลือกหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนายกรัฐมนตรีได้ประกาศว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเชีย-ยุโรปว่าด้วยการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ทั้งสองภูมิภาคได้หารือกันเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ๒๕๖๐

          ๔) ความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ ซึ่งไทยยินดีที่จะมีการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซม เพื่อหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-ยุโรป และหาลู่ทางในการเพิ่มการค้าการลงทุนระหว่างกัน

          นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสนี้แจ้งที่ประชุมถึงพัฒนาการทางการเมืองของไทย ที่มีเสถียรภาพ และกำลังสร้างระบอบประชาธิปไตย ที่ยั่งยืนตามแผนที่วางไว้ และได้กล่าวแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศสด้วย

          ในโอกาสที่ประธานาธิบดีมองโกเลียเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้นำอาเซม นายกรัฐมนตรีได้รับเกียรติให้กล่าวเชิญผู้นำดื่ม ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่ให้กำหนดอาเซม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงบทบาทอันแข็งขันของไทยที่เป็นผู้ก่อตั้งอาเซม และพัฒนาการต่างๆ ในปัจจุบันของอาเซม ในด้านการเชื่อมโยงและความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การเกษตร และวิทยาศาสตร์ นั้น ก็ได้มีพื้นฐานมาจากแถลงการณ์ของประธานจากการประชุมอาเซมครั้งแรกที่กรุงเทพฯ
          ในการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ที่ประชุมฯ ได้หยิบยกประเด็นภูมิภาคและประเด็นระหว่างประเทศที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ สถานการณ์ในเอเชียและยุโรป การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และการก่อการร้ายโดยมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม ได้แก่ ปฏิญญาอูลานบาตอร์ ในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี อาเซม แถลงการณ์ผู้นำอาเซมว่าด้วยการก่อร้าย และแถลงการณ์ประธาน ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในประเด็นสำคัญ ได้แก่

          ๑. ความท้าทายของโลกไร้พรมแดน อันนำมาซึ่งประเด็นปัญหาข้ามชาติ เช่น ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และการก่อการร้าย

          ๒. ความร่วมมือกันในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ  จะต้องอยู่บนพื้นฐานของ ความไว้เนื้อเชื่อใจการเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน บนกติการะหว่างประเทศ

          ๓. ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และการค้ามนุษย์ ไทยมีประสบการณ์ และให้ความสำคัญอย่างยิ่ง และพร้อมจะแลกเปลี่ยนกับประเทศในยุโรป

          ๔. ปัญหาการก่อการร้าย ทุกประเทศต้องร่วมมือกันทั้งในด้านการป้องกันภัยคุกคามและด้านมาตรการด้านการพัฒนา เพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ความไม่ยุติธรรม ความยากจน และการขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ ซึ่งเอเชียและยุโรปสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันได้

          ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมฯ นายกรัฐมนตรีได้พบหารือกับประธานาธิบดีมองโกเลีย เมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๙ โดยได้ใช้โอกาสดังกล่าวแจ้งพัฒนาการทางการเมืองของไทย รวมทั้งได้ขอให้ฝ่ายมองโกเลียสนับสนุนการลงทุนของไทยในมองโกเลีย ซึ่งหากนักลงทุนไทยในมองโกเลียปัจจุบันประสบผลสำเร็จก็จะช่วยสนับสนุนให้เอกชนไทยรายอื่น ๆ สนใจมาลงทุนในมองโกเลียเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ภาคเอกชนไทยขยายการลงทุนในตลาดใหม่และเห็นว่า มองโกเลียเป็นตลาดที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงความพร้อมของไทยในการสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนต้นแบบต่อไป รวมทั้งขอบคุณมองโกเลียที่สนับสนุนไทยในการเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวร UNSC วาระปี ค.ศ. ๒๐๑๗ - ๒๐๑๘ และไทยจะสนับสนุนมองโกเลียการเลือกตั้งสมาชิกไม่ถาวร UNSC วาระปี ค.ศ. ๒๐๒๓ - ๒๐๒๔ เช่นกันตามพันธกรณีแลกเสียงที่สองฝ่ายมีต่อกัน

          นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๙ นายกรัฐมนตรี ได้พบกับนายวรชน ดุลย์วิทย์ เยาวชนไทย ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรม Model ASEM ครั้งที่ ๗ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๖ - ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ณ กรุงอูลานบาตอร์ โดย มูลนิธิเอเชีย-ยุโรป โดยนายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงความสำคัญของเยาวชนในกระบวนการอาเซม ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยง และสร้างความรู้ ความเข้าใจระหว่างประเทศในเอเชีย และยุโรป อันจะทำให้อาเซมเป็นที่รู้จักมากขึ้นและได้กล่าวถึงบทบาทของรัฐบาลในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน โดยให้เยาวชนรู้จักพื้นฐานประวัติศาสตร์ของประเทศตัวเอง และใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างสร้างสรรค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ระหว่างกัน อันจะทำให้อาเซมในทศวรรษที่สามเป็นอาเซมที่ตอบสนองความสนใจและความต้องการของเยาวชนได้มากขึ้น            

          อนึ่ง ในระหว่างการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับนาง Federica Mogherini รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และนาย Péter Szijjártó รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฮังการี โดยได้ชี้แจงเกี่ยวกับพัฒนาการในประเทศไทย และยืนยันความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ระหว่างไทย - สหภาพยุโรป และไทย - ฮังการี
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ