วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ก.ค. 2559
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๕ – ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๙ นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีและเพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง โดยมีคณะผู้ติดตามประมาณ ๔๐ คน ประกอบด้วยผู้แทนระดับรัฐมนตรีถึง ๑๓ คน ทั้งนี้ กิจกรรมสำคัญระหว่างการเยือนมีดังนี้
๑. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำแก่นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป. ลาว และคณะ ณ วังสระปทุม
๒. การหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีแห่ง สปป. ลาว ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ย้ำเจตนารมณ์ที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ที่มีพัฒนาการเชิงบวกมาอย่างต่อเนื่องให้แน่นแฟ้นขึ้นในทุกระดับ บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกันและผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีปัจจัยเกื้อกูล ได้แก่ ความใกล้ชิดทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน โดยจะผลักดันความร่วมมือสำคัญ ดังนี้
ด้านการเมืองและความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ใกล้ชิด ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดีของประชาชน นอกจากนี้ ยังยินดีกับผลการสำรวจและจัดทำหลักเขตทางบกและทางน้ำร่วมไทย – ลาว และย้ำว่าจะไม่นำเรื่องเขตแดนมาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา แต่จะให้เป็นเส้นเขตแดนแห่งความร่วมมือ ในขณะเดียวกัน ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายลาวช่วยแก้ปัญหาระดับพื้นที่ อาทิ ปัญหาการดูดทราย เพื่อมิให้ปัญหาท้องถิ่นกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ
ด้านเศรษฐกิจ ไทยสนับสนุนการเชื่อมโยงด้านโครงการพื้นฐาน (hardware connectivity) ของ สปป. ลาว ได้แก่ การสร้างสะพาน ถนน และทางรถไฟ โดยทั้งสองฝ่ายจะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ ๖ (อุบลราชธานี – สาละวัน) เชื่อมโยงอีสานใต้กับตอนใต้ของลาวและสามารถเชื่อมต่อไปยังเวียดนาม ซึ่งสนับสนุนนโยบายเปลี่ยน landlocked เป็น landlink ของ สปป. ลาว และส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังขอให้ฝ่ายลาวให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและการบังคับใช้แนวปฏิบัติ กฎระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (software connectivity) เช่น กฎระเบียบด้านภาษี เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างกัน และไทยพร้อมหารือเพื่อขยายกรอบการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าจากลาวภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการพัฒนาไฟฟ้าไทย – ลาว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายแบตเตอรีแห่งเอเชียของลาว และเป็นการเสริมความมั่นคงทางพลังงานของไทยด้วย
ด้านแรงงาน ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการจ้างแรงงาน การคุ้มครองแรงงาน และความร่วมมือทางวิชาการ โดยเฉพาะการพัฒนาฝีมือแรงงานลาว ซึ่งมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสองประเทศอีกด้วย และในระยะต่อไป ทั้งสองฝ่ายจะเจรจาเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างงานให้แล้วเสร็จภายในปีนี้เพื่อการจ้างแรงงานลาวอย่างถูกกฎหมาย
ด้านสังคมและวัฒนธรรม สองฝ่ายมุ่งมั่นเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกันและส่งเสริมการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาวในเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประวัติศาสตร์ เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ ฝ่ายไทยจะสืบสานการให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาลาวเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนเป้าหมายของลาวเพื่อหลุดพ้นจากสถานะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) ภายในปี ๒๕๖๓ และเป้าหมายยั่งยืน (SDGs) ภายในปี ๒๕๗๓
๓. หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจที่กรุงเทพมหานคร นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป. ลาวและคณะได้เดินทางไปจังหวัดขอนแก่น โดยได้กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “สปป. ลาวสู่อนาคตการพัฒนา” ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้วิสัยทัศน์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของลาว โดย สปป. ลาวตั้งเป้าหมายที่จะหลุดพ้นจากสถานะ LDC เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นต่ำภายในปี ๒๕๖๓ และปรับเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงภายในปี ๒๕๗๓ โดยเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจสีเขียว เป็นศูนย์กลางท่าเรือบก (dry port) และแบตเตอรีแห่งเอเชีย และที่สำคัญคือ การส่งเสริมความเสถียรภาพความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในสังคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยความสัมพันธ์ระหว่างไทย – ลาวเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน สองประเทศมีหน้าที่ต้องรักษาสายสัมพันธ์นี้และแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างให้เป็นมรดกของรุ่นต่อไป ทั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมฟังปาฐกถาประมาณ ๗๐๐ คน ประกอบด้วยนักเรียน นักศึกษา คณาจารย์ ผู้แทนสภาอุตสาหกรรม ผู้แทนสภาหอการค้า และผู้แทนภาคเอกชน
นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป. ลาวได้รับมอบปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (การจัดการ) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เพื่อเชิดชูคุณงามความดีและความมุ่งมั่นในการผลักดันการพัฒนาประเทศให้มีความเป็นสากลและพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป. ลาวได้มอบเหรียญตรามิตรภาพแก่กรรมการสมาคมไทย – ลาวเพื่อมิตรภาพ เพื่อเชิดชูบทบาทของสมาคมฯ ในการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของสองประเทศตลอดเวลาที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีแห่ง สปป. ลาว และคณะในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของทั้งสองประเทศที่จะสานต่อและส่งเสริมพลวัตความสัมพันธ์และความร่วมมือในทุกระดับให้เป็นรูปธรรม บนพื้นฐานของความสัมพันธ์อันดีและยาวนาน เพื่อทั้งสองประเทศจะได้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันและเพื่อความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนต่อไป
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **