ผลการประชุมกลุ่ม ๗๗ หัวข้อ “SEP in Business: A G-77 Forum on the Implementation of the Sustainable Development Goals”

ผลการประชุมกลุ่ม ๗๗ หัวข้อ “SEP in Business: A G-77 Forum on the Implementation of the Sustainable Development Goals”

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 มิ.ย. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565

| 4,458 view

          เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๙ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมกลุ่ม ๗๗ “SEP in Business: A G-77 Forum on the Implementation of the Sustainable Development Goals ” ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นต่อยอดจากการประชุม “G77 Bangkok Roundtable on Sufficiency Economy: an Approach to Implementing the Sustainable Development Goals” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ โดยการประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่แนวทาง  การพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อประเทศสมาชิกกลุ่ม 77  อันจะช่วยส่งเสริมการบรรลุเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs โดยเน้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับภาคธุรกิจโดยตรงทั้งจากขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ที่นำเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจจนประสบผลสำเร็จ

          ในโอกาสนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดการประชุม โดยเน้นความสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะความร่วมมือกับภาคเอกชน  ในการส่งเสริมการบรรลุ SDGs ซึ่งต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย นอกจากนี้  ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวทางการพัฒนาของไทยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งภาคธุรกิจสามารถนำไปใช้เป็นกรอบในการตัดสินใจเพื่อการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน โดยเน้นย้ำว่าเศรษฐกิจพอเพียงมิได้ขัดกับหลักการแสวงกำไร แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวม ส่งเสริมทุนนิยมที่มีความรับผิดชอบ โดยยกตัวอย่างวิสัยทัศน์ของรัฐบาล “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” การปฏิรูประบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจสู่โมเดล “ประเทศไทย 4.0” เพื่อหลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาลไทย ซึ่งขับเคลื่อนโดยพลังกลไก “ประชารัฐ”

          หลังจากนั้น ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับบทเรียนของประเทศไทยในการพลิกฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ โดยใช้แนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะในภาคการบริหารเศรษฐศาสตร์เชิงมหภาค ซึ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งและยืดหยุ่นในการปรับตัวในภาคการผลิตจริง การพัฒนาระบบทางการเงินเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน การสร้างสถาบันที่เข้มแข็ง และการมุ่งสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความมั่นคงเชิงมหภาค เท่าเทียมและยั่งยืนบนหลักของเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนให้ความสำคัญกับการใช้เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่ในการดำเนินธุรกิจชองบริษัทในปัจจุบัน

          สำหรับการเสวนาในช่วงเช้า เป็นการนำเสนอเกี่ยวกับการนำแนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในภาคธุรกิจ โดยมีอาจารย์นิกม์ พิศลยบุตร ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการความยั่งยืน สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินรายการ โดยได้เชิญ นาย Stephen B. Young, Global Executive Director of the Caux Round Table นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ ที่ปรึกษาสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการดำเนินงานของภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาครัฐ ซึ่งผู้ร่วมเสวนาได้ให้ข้อคิดเห็นว่าเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจของภาคธุรกิจให้มีความยั่งยืนได้ และเป็นหลักปรัชญาที่บริษัทต่างๆ ใช้เป็นหลักยึดในการพลิกฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจ โดยภาครัฐมีส่วนสำคัญในการออกกฎเกณฑ์ ส่งเสริม ให้ความรู้ประชาชนและผู้ประกอบการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนในการลงทุนและดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

          ในช่วงบ่าย ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสเข้าชมนิทรรศการอย่างมีส่วนร่วมในลักษณะ “World Café” และนิทรรศการเกี่ยวกับการใช้การพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของไทยเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งจัดโดยมูลนิธิมั่นพัฒนา โดยผู้เข้าร่วมประชุมได้มีโอกาสพูดคุยกับบริษัทต่างๆ ที่ใช้แนวทางการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินธุรกิจจนประสบผลสำเร็จและมีความยั่งยืน อาทิ บ้านอนุรักษ์กระดาษสา (เชียงใหม่), ซองเดอร์นิธิฟู้ดส์, Bathroom Design, Plan Toys และ SCG และได้ใช้โอกาสดังกล่าวหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสริมสร้างแนวทางความร่วมมือและริเริ่มโครงการความร่วมมือด้านเศรษฐกิจพอเพียงกับกรมความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งได้จัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการด้วย 

          สำหรับการเสวนาในช่วงบ่าย นาย Macharia Kamau เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรเคนยาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ซึ่งมีบทบาทสำคัญ เป็นประธานร่วม (Co-Chair) และผู้ประสานงานร่วม (Co-Facilitator) ในกระบวนเจรจาระหว่างรัฐบาลเพื่อจัดทำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ได้ให้เกียรติมาเป็นผู้อภิปรายนำร่วมกับนางกาญจนา ภัทรโชค รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ และได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวางกับผู้เข้าร่วมเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ รวมทั้งโอกาสและความท้าทายในอนาคต โดยเฉพาะในประเทศกลุ่ม 77 จากมุมมองของสหประชาชาติและประสบการณ์ส่วนตัวด้วย

          นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๙ คณะผู้แทนกลุ่ม ๗๗ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานด้านการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคการบริการและการท่องเที่ยวและความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและเกษตรกรท้องถิ่นในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและการพัฒนาที่ยั่งยืน ณ โรงแรมสวนสามพราน ริเวอไซด์ จังหวัดนครปฐมและได้เยี่ยมชมกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของไทย โดยผู้แทนประเทศต่างๆ ได้แสดงความสนใจและถามคำถามอย่างเป็นกันเอง

          การประชุมดังกล่าวประสบผลสำเร็จอย่างดี มีผู้เข้าร่วมทั้งหมดมากกว่า ๒๓๐ คน แบ่งเป็นผู้แทนจากประเทศกลุ่ม ๗๗ ซึ่งประกอบด้วย เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรกลุ่ม ๗๗ จากนครนิวยอร์ก เอกอัครราชทูตกลุ่ม ๗๗ ในประเทศไทย และผู้แทนระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการและองค์การระหว่างประเทศที่มีความสนใจด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ