ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่ม ๗๗ ว่าด้วยการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่ม ๗๗ ว่าด้วยการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 พ.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 3,535 view

          เมื่อวันที่ ๔-๕ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ประเทศไทยในฐานะประธานกลุ่ม ๗๗ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกลุ่ม ๗๗ ว่าด้วยการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (G77 Meeting on Investment for Sustainable Development)  ณ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมีนายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม นอกจากนี้เลขาธิการคณะกรรมาธิการ เศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) และผู้แทนระดับสูงจาก การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) และองค์การเพื่อความร่วมมือ ทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ร่วมกล่าวเปิดในช่วงเปิดการประชุมด้วย การประชุมได้รับ การตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาคมระหว่างประเทศ โดยมีผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศจำนวน ๑๔ ราย สมาชิกกลุ่ม ๗๗ จากเมืองหลวง นครนิวยอร์ก นครเจนีวา  กรุงโรม ตลอดจนสถานเอกอัครราชทูต ประเทศกลุ่ม ๗๗ ประจำประเทศไทยจำนวนรวม ๓๙ ราย ซึ่งเป็นระดับเอกอัครราชทูตถึง ๖ ราย


          การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้สมาชิกกลุ่ม ๗๗ และองค์กรระหว่าง ประเทศไทย ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อหาแนวทางในการสนับสนุนการลงทุนเพื่อให้เกิดการพัฒนา อย่างยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ (Sustainable Development Goals – SDGs) การประชุมแบ่งออกเป็น ๔ วาระ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจในแต่วาระ ดังนี้


          วาระที่ ๑ ความท้าทาย และข้อจำกัดในการระดมทุนเพื่อบรรลุ SDGs รายงานของ UNCTAD ระบุว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกจำเป็นต้องสรรหาการลงทุนเพิ่มเติมเป็นจำนวนถึง ๒.๕ ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเพื่อสนับสนุนการดำเนินการให้บรรลุ SDGs ได้เพียงพอ ความท้าทายในการระดม เงินทุนที่สำคัญ อาทิ การดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม การวางนโยบายการลงทุนให้เกิดการพัฒนา ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับ SDGs โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างทั่วถึง


          วาระที่ ๒ นโยบายเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ข้อเสนอแนะสำคัญ อาทิ สนับสนุนให้แต่ละประเทศมีนโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องกัน ปฏิรูปการจัดทำ ความตกลงเพื่อการลงทุนระหว่างประเทศโดยเน้นให้ความตกลงที่จะมีการจัดทำขึ้นนั้นสนับสนุนการบรรลุ SDGs ส่งเสริมการลงทุนผ่านประชารัฐ และความร่วมมือใต้-ใต้ เพื่อดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับ SDGs โดยอาจเน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม


          วาระที่ ๓ ทางเลือกอื่นในการส่งเสริมการลงทุนที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืน ได้แก่ มาตรฐานการลงทุนของบริษัทข้ามชาติโดย OECD แนวทางในการดำเนินธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งได้วางแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับ SDGs ตลอดจนการลงทุนแบบรายย่อย (Micro-Finance) โดยใช้กองทุนหมู่บ้านของไทยเป็นตัวอย่าง


          วาระที่ ๔ ความพยายามในการปฏิรูประบบการลงทุนระหว่างประเทศ ประเด็นหารือสำคัญ ได้แก่ ความจำเป็นในการปฏิรูประบอบความตกลงการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment  Agreement – IIAs) เพื่อการบรรลุ SDGs การสร้างสมดุลระหว่างการปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน กับความสามารถของรัฐในการควบคุมการลงทุน และบทบาทของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการกำหนด แนวทางในการปฏิรูป IIAs ที่มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศกำลังพัฒนา


          นอกจากนี้ มีการกล่าวปาฐกถาพิเศษเกี่ยวกับการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ ในภาคธุรกิจ โดยผู้แทนบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)  ซึ่งปรัชญาดังกล่าวได้ช่วยให้บริษัทผ่านพ้น วิกฤติเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐ และวางแผนในการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเน้นเฉพาะธุรกิจที่บริษัทมีความ เชี่ยวชาญ และดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล


          กระทรวงการต่างประเทศจะร่วมมือกับ UNCTAD ในการเผยแพร่ผลการประชุม ในครั้งนี้ต่อที่ประชุมรัฐมนตรี UNCTAD ครั้งที่ ๑๔ ที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา เพื่อประโยชน์ในการผลักดันประเด็นนี้ในเวทีระหว่างประเทศต่อไป เพื่อชูบทบาทของไทย ในฐานะประธานกลุ่ม ๗๗ ในการส่งเสริมการดำเนินการให้บรรลุวาระเพื่อการพัฒนา ค.ศ. ๒๐๓๐


          การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ ๕ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ในฐานะที่เป็นประธานกลุ่ม ๗๗ วาระปี ๒๕๕๙  ภายใต้ปณิธานของการเป็นประธานกลุ่ม “จากวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติ: ความเป็นหุ้นส่วน ที่ครอบคลุมทุกผ่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ