วันที่นำเข้าข้อมูล 8 เม.ย. 2559
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๙ นางซาบีเนอ ชปาร์วาสเซอร์ (Mrs. Sabine Sparwasser) อธิบดีกรมแอฟริกา เอเชีย ละตินอเมริกา ตะวันออกใกล้และตะวันออกกลาง กระทรวงการต่างประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีได้เข้าเยี่ยมคารวะนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในโอกาสเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม Bilateral Political Consultation ไทย-เยอรมนี ครั้งที่ ๑
ทั้งสองฝ่ายพอใจต่อความสัมพันธ์ไทย-เยอรมันที่มีพลวัตอย่างต่อเนื่อง และนางชปาร์วาสเซอร์ให้ความสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองไทย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการฯ ได้ชี้แจงพัฒนาการการเมืองไทย ตลอดจนกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ต่อร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ โดยย้ำความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการปฏิรูปและแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อวางรากฐานของระบบการเมืองในอนาคต และยืนยันว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ต้องไม่เป็นไปในทิศทางที่สร้างความแตกแยก
นางชปาร์วาสเซอร์ฯ ได้มอบหนังสือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหพันธ์ฯ เชิญรัฐมนตรีว่าการฯ เข้าร่วมการประชุม OSCE Conference on Connectivity for Commerce and Investment ณ กรุงเบอร์ลิน ระหว่างวันที่ ๑๘-๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ในโอกาสเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการฯ ได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหพันธ์ฯ เข้าร่วมการประชุม OSCE – Asia Conference ในเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ และการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ครั้งที่ ๒๑ ในปี ๒๕๕๙ ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ โดยนางชปาร์วาสเซอร์ย้ำว่า สหภาพยุโรปให้ความสำคัญต่อการยกระดับความสัมพันธ์กับอาเซียนให้เป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ และประสงค์ให้ EU เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ด้วย
หลังจากนั้น นางชปาร์วาสเซอร์ฯ ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนสหพันธ์ฯ เข้าร่วมการประชุม Bilateral Political Consultation ไทย-เยอรมนี ครั้งที่ ๑ กับนายปัญญรักษ์ พูลทรัพย์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการขยายความสัมพันธ์ทวิภาคีและความร่วมมือในกรอบพหุภาคี โดยเห็นว่า ไทยและเยอรมนีสามารถขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า การศึกษา และพลังงานทดแทนได้ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเอเชียและยุโรป โดยฝ่ายเยอรมันแสดงความสนใจต่อสถานการณ์ในทะเลจีนใต้และพัฒนาการการเมืองในเมียนมา และชี้แจงแนวทางแก้ไขปัญหาผู้อพยพอย่างยั่งยืนของเยอรมนี ผ่านหลักการแยกแยะระหว่างผู้อพยพและผู้ลี้ภัย และการเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศหุ้นส่วนนอกสหภาพยุโรป อาทิ ตุรกี จอร์แดน และเลบานอน
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **