ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลี ครั้งที่ ๖

ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลี ครั้งที่ ๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 มี.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 3,459 view

         เมื่อวันที่ ๒๒ – ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๙ นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ได้นำคณะผู้แทนไทยจากกระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานอัยการสูงสุด เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลี ครั้งที่ ๖ ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อเน้นย้ำบทบาทไทยในการแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ การลักลอบขนคน การค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

         ที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลี (Bali Declaration on People Smuggling, Trafficking in Persons, and Related Transnational Crime) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของสมาชิกกระบวนการบาหลีในการแก้ไขปัญหาการลักลอบขนคน การค้ามนุษย์ การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และอาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันในภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นวิสัยทัศน์สำหรับการดำเนินงานร่วมกันในอนาคต นอกจากนี้ ปฏิญญาดังกล่าวยังได้รับรองกลไกการหารือระดับภูมิภาคเพื่อตอบสนองสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงทีในเชิงรุก ทั้งนี้ เอกสารดังกล่าวเป็นปฏิญญาทางการเมืองของกระบวนการบาหลีฉบับแรก นับตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งกระบวนการบาหลีเมื่อ ๑๔ ปีที่แล้ว

         ระหว่างการประชุมดังกล่าว บังคลาเทศและสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office on Drugs and Crime – UNODC) ได้ชื่นชมบทบาทของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ ๑ และ ๒ และการหารือกลุ่มเล็กในเรื่องเดียวกัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘ เป็นต้นมา ขณะเดียวกัน เอกสารบทสรุปของประธาน (Co-Chairs’ Statement) ยังระบุบทบาทของไทยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้แจ้งไทยก่อนหน้านี้ ระหว่างการบรรยายสรุปแก่หน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ว่า การที่ไทยริเริ่มจัดประชุมระดับภูมิภาคทั้งสองครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ประเทศที่เกี่ยวข้องต่างๆ ให้ความสำคัญในการพยายามร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ ได้เป็นปัจจัยหลักส่วนหนึ่งที่ทำให้จำนวนผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดียลดลงจาก ๓๐,๐๐๐ คนในครึ่งปีแรกของปี ๒๕๕๘ เป็น ๑,๖๐๐ คนในครึ่งปีหลังของปีเดียวกัน

         นอกจากนี้ ออสเตรเลียและอินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานร่วมของกระบวนการบาหลี ยังได้บรรจุข้อเสนอจากร่าง Action Agenda ของไทยที่เสนอต่อที่ประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ครั้งที่ ๒ หลายข้อไว้ในปฏิญญาฯ เพื่อให้ที่ประชุมได้รับรองด้วย อาทิ ประเด็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ การส่งเสริมช่องทางการโยกย้ายถิ่นฐานอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย การให้องค์กรระหว่างประเทศทางมนุษยธรรมเข้าถึงและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ รวมทั้งความสำคัญของการจัดโครงการประชาสัมพันธ์ข้อมูล (Information Campaign) เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติเพิ่มขึ้น และการส่งสัญญาณไปยังขบวนการลักลอบขนคนและค้ามนุษย์ถึงความเคร่งครัดและเข้มงวดของภาครัฐในการปราบปรามอย่างจริงจัง

         ในระหว่างการประชุมดังกล่าว ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยังได้พบหารือทวิภาคีกับนาย Volker Turk ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ UNHCR และนาย William Lacy Swing ผู้อำนวยการองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration: IOM)  โดยได้หารือถึงสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานรูปแบบต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะกรณีผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมา และผู้แสวงหาที่พักพิงในเขตเมือง โดยผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้ขอให้ UNHCR ให้ความช่วยเหลือไทยเพิ่มเติม เพื่อลดภาระของไทยในการดูแลผู้โยกย้ายถิ่นฐานกลุ่มต่างๆ ด้วย

         นอกจากนั้น ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ยังได้พบกับนาย Ratu Inoke Kubuabola รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิจิ นาย Mohamed Saeed รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจมัลดีฟส์ และนาย David Adeang รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและการควบคุมพรมแดนนาอูรู เพื่อขอรับการสนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแหงสหประชาชาติของไทยสำหรับวาระปี ค.ศ. ๒๐๑๗ – ๒๐๑๘ ด้วย

         การประชุมระดับรัฐมนตรีของกระบวนการบาหลีครั้งนี้มีผู้แทนจากประเทศสมาชิกและองค์การระหว่างประเทศที่เป็นสมาชิก ๔๕ แห่ง เข้าร่วม โดยมีนาง Julie Bishop รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย และนาง Retno Marsudi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เป็นประธานร่วม

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ