“ดูไบ” ดินแดนที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์โบราณ ทะเลทรายและชนเผ่าเร่ร่อน พัฒนาอย่างรวดเร็วมาสู่เมืองแห่งความหรูหราท่ามกลางตึกสูงเสียดฟ้า ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ลานสกีในร่ม เกาะต้นปาล์ม และรีสอร์ทหรูริมชายหาดที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนให้มาเยือนตลอดทั้งปี ซึ่งหากมองจากภายนอก “ดูไบ” เปรียบเสมือนดินแดนในฝันของใครหลาย ๆคน แต่ในความเป็นจริง ยังมีคนไทยจำนวนหนึ่งที่หวังจะมาแสวงหาโชคในประเทศนี้ แล้วไม่เป็นไปตามที่ฝัน กลับต้องมาตกทุกข์ได้ยากในต่างแดนที่สภาพความเป็นอยู่มิได้สวยหรูอย่างที่คิด
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่คอยให้ความช่วยเหลือคุ้มครองคนไทยในดูไบและรัฐทางตอนเหนือของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่บทบาทช่วยเหลือและคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศ หรือการเป็นตัวแทนคนไทยที่ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีงามของไทย ช่วยเหลือสังคมและชุมชน อุทิศตนเพื่อส่วนรวม มิได้จำกัดอยู่ที่หน่วยงานของรัฐเท่านั้น ประชาชนคนไทยทั่ว ๆ ไป ก็สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างแดนได้ ดังเช่น คุณสุนีย์ วันยะเล หรือที่คนไทยในดูไบรู้จักกันในชื่อ มาดามสุนีย์ ที่พึ่งของคนไทยตกทุกข์ในดูไบ
“จากคนไทยธรรมดา สู่มาดามสุนีย์ผู้ให้ความช่วยเหลือคนไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์”
คุณสุนีย์ วันยะเล เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๕ โดยช่วงปี พ.ศ. ๒๕๒๔ - ๒๕๒๕ ชาวอาหรับจำนวนมากในประเทศตะวันออกกลางนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวและมารับการรักษาพยาบาลที่ประเทศไทย จึงเป็นต้นเหตุให้คุณสุนีย์ฯ ได้พบรักกับหนุ่มดูไบและตัดสินใจจดทะเบียนสมรสกัน แต่เนื่องจากสมัยก่อนคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักดูไบ เวลาเรียกชื่อเมืองดูไบ ก็มักจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นประเทศบรูไน ช่วงแรกแม่ของคุณสุนีย์ฯ เอง ยังไม่อยากให้ลูกสาวพลัดพรากไปอยู่ต่างแดน ซึ่งก็เป็นธรรมดาของวัฒนธรรมไทย ที่อยากให้ลูกสาวอยู่ใกล้ ๆ ไม่อยากให้จากบ้านไปไกล แต่สุดท้ายคุณสุนีย์ฯ ก็ตัดสินใจแต่งงานและจดทะเบียนสมรสกับสามีชาวยูเออีที่อำเภอบางละมุง และได้ย้ายมาอยู่กับสามีที่ดูไบตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งนับเป็นเวลาประมาณ ๓๐ ปีแล้ว ช่วงที่คุณสุนีย์ฯ ย้ายมาอยู่ดูไบใหม่ ๆ ก็ประสบปัญหาการปรับตัว โดยเฉพาะเรื่องการรับประทานอาหาร เนื่องจากอาหารจะผสมกับเครื่องเทศกลิ่นแรงคล้าย ๆ กับอาหารอินเดียหรือปากีสถาน ร้านอาหารไทยหรือเครื่องปรุงแบบไทยก็แทบไม่มี จึงต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมอาหรับได้
สภาพสังคมวัฒนธรรมของ “ดูไบ” ในสมัยก่อนกับปัจจุบัน
สภาพสังคมวัฒนธรรมของ “ดูไบ” สมัยก่อนแตกต่างกับสมัยนี้มาก เช่น ห้ามมิให้ผู้หญิงนั่งรถแท็กซี่เพียงลำพัง สมัยก่อนมีข้อห้ามสำหรับผู้หญิงเยอะมาก ห้ามมิให้ผู้หญิงออกนอกบ้านเพียงลำพังเวลาออกนอกบ้านต้องแต่งตัวปกปิดร่างกายให้มิดชิด แต่สำหรับปัจจุบันเริ่มมีการอะลุ่มอล่วยกันมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะว่ามีคนต่างชาติ ต่างศาสนาเดินทางเข้ามาท่องเที่ยงและทำงานอยู่ในดูไบมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามเรื่องห้ามชาย-หญิงจับมือกันในที่สาธารณะ และห้ามไม่ให้คนที่มิใช่สามีภรรยากัน อยู่ในสถานที่รโหฐาน หรืออยู่ด้วยกันตามลำพังยังคงมีอยู่จนถึงปัจจุบัน หากเจ้าหน้าที่ตำรวจพบเห็นว่ามีผู้ชายและผู้หญิงจับมือกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจมีสิทธิ์ขอตรวจดูทะเบียนสมรส หากไม่มีก็จะทำการจับกุม เหมือนกับที่เคยมีหญิงไทยอยู่ด้วยกันลำพังสองต่อสองในห้องพักของชายอียิปต์โดยไม่ได้แต่งงานและจดทะเบียนสมรส ทำให้ทั้งคู่ต้องติดคุกและถูกเนรเทศออกจากประเทศยูเออี ข้อห้ามเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนไทยที่เดินทางมาดูไบต้องพึงระมัดระวัง อย่างไรก็ดี เราอาจพบเห็นผู้ชายเดินจับมือกันเป็นเรื่องปกติ เพราะวัฒนธรรมอาหรับ ผู้ชายเวลาพบปะกัน หรือเสร็จสิ้นจากการทำละหมาด ก็จะจับมือกัน หอมแก้มกัน หรือเอาจมูกชนกัน ถือเป็นการทักทายตามปกติ เพื่อแสดงความเป็นมิตรไมตรีและความห่วงใยกันเสมือนเป็นญาติพี่น้อง
จุดเปลี่ยนและจุดพลิกผันในชีวิต
ชีวิตการแต่งงานของคุณสุนีย์ฯ ทุกอย่างเป็นไปด้วยความราบรื่น ชีวิตมีแต่ความสุข ความสะดวกสบาย เนื่องจากประเพณีของคนอาหรับเวลาแต่งงานภรรยาไม่ต้องทำอะไรเลย จาก นางสาวสุนีย์ฯ กลายเป็นมาดามสุนีย์ฯ มีชีวิตอยู่ในบ้านหลังใหญ่ การดำเนินชีวิตประจำวันทุกๆวัน จะมีคนรับใช้คอยให้บริการตลอด ๒๔ ชั่วโมง เวลาจะเดินทางไปไหนมาไหนก็มีคนขับรถยนต์ให้ ชีวิตจึงเปรียบเสมือนนกน้อยในกรงทองก็ว่าได้
จุดพลิกผันในชีวิตที่สำคัญของคุณสุนีย์ฯ คือ เมื่อสามีเสียชีวิต จากคนที่ไม่ต้องทำอะไรเพียงลำพัง ต้องเป็นผู้จัดการทุกอย่างในบ้าน ทั้งดูแลลูก ๆ เดินเรื่องขอเอกสารใบมรณะบัตรสามี จัดการเรื่องทรัพย์สินสมรสและมรดก ซึ่งในเวลานั้นคุณสุนีย์ฯ มีทั้งความรู้สึกเสียใจที่ต้องสูญเสียสามี และรู้สึกเป็นกังวลกับอนาคต ไม่รู้จะเริ่มต้นจัดการเรื่องต่าง ๆ อย่างไรดี จึงตัดสินใจเข้ามาขอรับความช่วยเหลือจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ ซึ่งในเวลานั้น คุณสุนีย์ฯ ได้รู้จักกับล่ามของสถานกงสุลใหญ่ฯ และได้เจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลใหญ่ฯ นี้เองที่คอยให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย การเดินเรื่องที่ศาลดูไบเป็นอย่างดี คุณสุนีย์ฯ เข้ามาติดต่อที่สถานกงสุลใหญ่ฯ บ่อยครั้ง จนกระทั่งเรื่องทุกอย่างสำเร็จลุล่วงผ่านไปได้ด้วยดี คุณสุนีย์ฯ รู้สึกขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลใหญ่ฯ ที่คอยให้ความช่วยเหลือ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คุณสุนีย์ฯ ก็เริ่มร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของสถานกงสุลใหญ่ฯ มาโดยตลอด ด้วยความรู้สึกว่าสถานกงสุลใหญ่ฯ เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของคนไทย ที่เวลาใครมีปัญหาหรือไม่มีปัญหาก็สามารถเข้ามาปรึกษา พูดคุยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบได้เสมอ
แรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อชุมชนไทย
คนเราเวลาที่ไม่เคยประสบกับปัญหาด้วยตนเอง มักจะไม่เข้าใจคนอื่นอย่างแท้จริง คุณสุนีย์ฯ เริ่มให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ประสบปัญหา โดยร่วมกับสถานกงสุลใหญ่ฯ เพราะคิดว่าปัญหาที่คนอื่นประสบ ก็เหมือนกับปัญหาที่ตัวเองเคยประสบมาเหมือนกัน เวลาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ไม่รู้จักใคร ก็จะรู้สึกเคว้งคว้าง คนไทยด้วยกันต้องช่วยเหลือกัน อะไรที่พอจะช่วยกันได้ก็ช่วยกันไป เนื่องจากคุณสุนีย์ฯ อยู่ดูไบเป็นระยะเวลานานจนสามารถพูดภาษาอาหรับได้ เวลาเห็นคนไทยประสบปัญหาและไม่สามารถสื่อสารได้ จึงรู้สึกเห็นใจ ไม่ว่าจะงานราษฏร์งานหลวงก็จะเข้าร่วมและสนับสนุนกำลังกายกำลังทรัพย์ เสมอไม่ขาด
บทบาทในการช่วยเหลือคนไทยตกทุกข์
ในอดีตสถานกงสุลใหญ่ฯ ยังไม่มีห้องพักฉุกเฉินสำหรับคนไทยตกทุกข์ ในบางครั้งที่คนไทยหนีออกมาขอความช่วยเหลือจากการที่โดนนายจ้างกดขี่ข่มเหง คุณสุนีย์ฯ จึงให้ความช่วยเหลือให้เข้ามาพักพิงอยู่ในบ้านของตนเป็นการชั่วคราวระหว่างรอดำเนินเรื่องส่งกลับประเทศไทย บางคนหนีมาตัวเปล่า คุณสุนีย์ก็จะบริจาคเสื้อผ้าและของใช้ส่วนตัวให้ หรือกรณีที่ต้องเจรจาไกล่เกลี่ยกับนายจ้าง คุณสุนีย์ก็จะคอยเป็นล่าม หากต้องขึ้นศาล ก็จะช่วยดูแลคนไทยตกทุกข์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลใหญ่ฯ ตามกระบวนการของคดีความ ปัจจุบัน คุณสุนีย์ก็ยังสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนไทยอยู่เป็นประจำ
เค้าว่ากันว่า... แท้จริงแล้ว เป็นอย่างไร
สำหรับปัญหาที่คนไทยที่เดินทางมาดูไบมักประสบคือ เรื่องการทำงานผิดกับประเภทของวีซ่าที่ตนได้รับ เพราะการทำงานในประเทศยูเออี นอกจากจะต้องทำตามอาชีพที่ระบุไว้ในวีซ่าเท่านั้นแล้ว จะเปลี่ยนงานไม่ได้ เช่นในวีซ่าระบุว่าเป็นพนักงานแคชเชียร์ ก็ต้องทำงานแคชเชียร์อย่างเดียว จะไม่สามารถไปทำอย่างอื่นได้ และวีซ่านั้นจะต้องเป็นวีซ่าประเภททำงาน (Employment visa) ด้วย จะถือวีซ่าท่องเที่ยว (Visit visa) แล้วแอบลักลอบทำงานไม่ได้ และปัญหาส่วนใหญ่ที่คนไทยประสบคือ การลักลอบทำงานด้วยวีซ่าท่องเที่ยว ซึ่งผิดกฎหมายยูเออี แต่บางคนก็เต็มใจมาทั้ง ๆ ที่รู้ว่าผิดกฎหมาย เชื่อเพื่อน หรือฟังเค้าเล่าต่อๆ กันมาว่า รายได้ดี ความเป็นอยู่สุขสบาย แท้ที่จริงแล้วคนที่มาบอกมาเล่าว่าดีอย่างนั้นอย่างนี้เป็นนายหน้าแอบงุบงิบคิดค่าหัวคิวกับนายจ้าง ซ้ำร้ายอาจถูกบังคับให้ขายบริการทางเพศ ถูกนายจ้างกักขัง ยึดหนังสือเดินทาง ไม่จ่ายค่าจ้างตามที่ตกลงกันไว้ เป็นต้น นอกจากนี้ พนักงานนวดสปาส่วนมากจะเป็นผู้หญิง ซึ่งมักจะต้องนวดให้กับลูกค้าผู้ชาย ถึงแม้ตามกฎหมายของยูเออี จะห้ามมิให้ผู้หญิงนวดผู้ชายโดยไม่มีใบอนุญาต แต่ร้านนวดส่วนใหญ่ก็ลักลอบดำเนินกิจการ จนเป็นเหตุให้มีพนักงานนวดสปาหญิงไทยถูกตำรวจล่อซื้อและจับกุมอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ หญิงไทยเหล่านี้ก็ต้องรองรับอารมณ์ของลูกค้าผู้ชายที่มีอาการเก็บกด เนื่องจากสภาพสังคมที่ห้ามมิให้ผู้ชายมองผู้หญิง หรือถูกเนื้อต้องตัวได้ เมื่อมาใช้บริการในสถานที่ลับตาคนก็จะถือโอกาสลวนลามหรือล่วงละเมิดทางเพศกับหมอนวด และอาจถูกนายจ้างบังคับให้ให้บริการทางเพศแก่ลูกค้าเหล่านี้ ซึ่งหมอนวดส่วนใหญ่ ถ้ามาทำงานโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะไม่กล้าออกไปไหนหรือร้องเรียนใคร เพราะกลัวถูกส่งกลับ ก้มหน้าทำงานใช้หนี้ค่านายหน้า ค่าวีซ่าหรือตั๋วเครื่องบิน หนี้สินพอกพูนขึ้นทุกวัน เงินค่าจ้าง/ทิปก็ไม่ได้ ต้อง เปลืองทั้งตัวและอนาคต
ไม่ใช่แต่คนไทยที่มาทำงานเป็นลูกจ้างเท่านั้น คุณสุนีย์ยังเสริมว่า ถึงแม้ “ดูไบ” จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาค และมีความโดดเด่นในด้านการค้าการลงทุน ซึ่งทำให้หลาย ๆ คนคิดว่า การมาลงทุนทำธุรกิจที่ “ดูไบ” นั้นจะสามารถนำความมั่งคั่งร่ำรวยมาสู่ตนเองและครอบครัวได้โดยง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่วาดฝันไว้ไม่ได้ง่ายดายอย่างที่คิดเนื่องจาก การทำธุรกิจที่นี่ใช้ระบบสปอนเซอร์ กล่าวคือ ต้องมีหุ้นส่วนเป็นคนท้องถิ่นถือหุ้นร้อยละ ๕๑ ขึ้นไป มีค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน จัดตั้งบริษัท ค่าเช่าสำนักงานและอื่น ๆ รวมถึงการแข่งขันสูง จึงต้องศึกษาทิศทางธุรกิจอย่างถี่ถ้วน และเฟ้นหาสปอนเซอร์ท้องถิ่น และคู่ค้าที่ไว้ใจได้ หากเกิดปัญหาจะได้ไม่เสียใจภายหลัง เนื่องจากกระบวนการฟ้องร้องทางศาลมีขั้นตอนยุ่งยากมาก และใช้เวลา เนื่องจากทุกอย่างต้องแปลเป็นภาษาอารบิก หลายธุรกิจที่เริ่มอิ่มตัวและมีการแข่งขันสูง เช่น ร้านนวด และร้านอาหาร ก็ต้องอาศัยเวลากว่าจะติดตลาด ด้วยวิสัยของชาวอาหรับจะไม่ค่อยไว้วางใจร้านใหม่ ๆ หรือลองอะไรใหม่ ๆ
“อินชาอัลลอฮ์ (หากพระเจ้าประสงค์)”
คุณสุนีย์ก็รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้เจอคนไทย เหมือนได้เจอญาติพี่น้อง ลูก ๆ ของคุณสุนีย์เองก็รักคนไทย ชอบประเทศไทย การที่คุณสุนีย์ฯ คอยให้ความช่วยเหลือคนไทย ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการรักษาชื่อเสียงของประเทศ โดยเฉพาะช่วงหลังๆ ที่มีคนไทยลักลอบค้าประเวณี ภาพลักษณ์คนไทยจึงมัวหมองลง ถึงแม้บางคนทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่คุณสุนีย์ก็ยังคงให้ความช่วยเหลือด้วยความคิดที่ว่า พระเจ้าท่านให้อภัยมนุษย์เสมอ สักวันหนึ่งเค้าต้องคิดกลับตัวได้ “เหมือนเราปล่อยปลา เราก็ไม่ได้หวังจะให้ปลากลับมาช่วยเราใช่ไหม” และด้วยความเสียสละ อุทิศตนเพื่อผู้อื่น และเป็นตัวแทนของคนไทยที่มีคุณธรรม น่ายกย่องนี่เอง จึงทำให้คุณสุนีย์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ ๕ เบญจมดิเรกคุณาภรณ์