การลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดนว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการการดัดแปรสภาพอากาศโดยเทคโนโลยีฝนหลวง ณ กรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน

การลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดนว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการการดัดแปรสภาพอากาศโดยเทคโนโลยีฝนหลวง ณ กรุงอัมมาน ประเทศจอร์แดน

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 มี.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 5 พ.ย. 2562

| 661 view
            เมื่อช่วงเช้าของวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๙ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หารือกับ ดร. อากิฟ อัล ซูบี (Dr. Akef Al-Zoubi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรจอร์แดนทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะดำเนินโครงการทำฝนหลวงในจอร์แดน ให้เกิดผลได้จริง โดยมีบันทึก ความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการการดัดแปรสภาพอากาศโดยเทคโนโลยีฝนหลวง และแผนงานดำเนินโครงการระยะ ๓ ปี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะสานต่อเพื่อให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรต่อไปด้วย ฝ่ายจอร์แดนแสดงความประสงค์ที่จะมีความร่วมมือกับไทยด้าน (๑) การเลี้ยงสัตว์ (๒) การสร้างมาตรฐานด้านสุขอนามัยสัตว์และพืช ทั้งเพื่อการบริโภคภายในและเพื่อการส่งออก และ (๓) การเพิ่มปริมาณการนำเข้า-ส่งออกสินค้าอาหารระหว่างกัน ซึ่ง รมว. กษ. ได้แสดงความยินดีที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรดังกล่าว ซึ่งจะช่วยขยายความร่วมมือด้านการเกษตรในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ ในโอกาสนี้ รมว. กษ. ได้กล่าวถึงการปรับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็น    แนวทางการพัฒนาของไทยมาอย่างต่อเนื่องจนเกิดผลสำเร็จในการพัฒนาที่ยั่งยืน  ซึ่งสามารถนำมาใช้  เป็นทางเลือกในการพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ตามแนวทางของสหประชาชาติได้ 
 
            กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ มีความพร้อมที่จะริเริ่มโครงการ พัฒนาชุมชนที่ปรับใช้ปรัชญานี้ในจอร์แดนเพื่อให้เกิดชุมชนต้นแบบได้ ในโอกาสนี้ รมว. กษ. ได้มอบหนังสือเกี่ยวกับ Sufficiency Economy ให้ รมว. กษ. จอร์แดนไว้ด้วย
 
            ภายหลังการหารือ ได้มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของทั้งสองฝ่าย โดยมีพลเอก ปัฐมพงศ์ ประถมภัฏ ผู้ช่วย รมว. กษ. นายอภิชาติ เพ็ชรรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงอัมมาน นายเลอศักดิ์  ริ้วตระกูลไพบูลย์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และนางสุพัตรา ศรีไมตรีพิทักษ์ อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ เข้าร่วมในพิธีด้วย 
 
ในพิธีลงนามข้างต้น  รมว. กษ. ได้กล่าวคำแถลง ดังนี้
 
            “กระผมในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เดินทางมาเยือนราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจอร์แดนนั้นจะครบรอบ ๕๐ ปี ในปีนี้ โดยทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันทั้งในระดับราชวงศ์ รัฐบาล และประชาชน ตามที่ปรากฏการเยือนของราชวงศ์ไทยและราชวงศ์จอร์แดนเสมอมา นอกจากนี้ไทยและจอร์แดน ยังมีความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนและวัฒนธรรมระหว่างกันผ่านความร่วมมือและความตกลงต่าง ๆ มาโดยตลอด
 
            การลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดนว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการการดัดแปรสภาพอากาศ โดยเทคโนโลยีฝนหลวงในวันนี้ นอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อให้รัฐบาลจอร์แดนได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำฝนหลวงที่มาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้นำไปแก้ไขและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนชาวจอร์แดนจากปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล  ขาดแคลนน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นและเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปี ความสัมพันธ์ไทย-จอร์แดน ในปีนี้ด้วยเช่นกัน
 
            การจะทำฝนหลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องอาศัยระยะเวลาและความชำนาญ เช่นเดียวกับครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทยทรงใช้เวลาในการคิดค้นและปรับปรุงเทคนิคการทำฝนหลวงมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ มีพระราชดำริครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๒ นับเป็นระยะเวลากว่า ๔๔ ปี จึงจะสำเร็จเป็นตำราฝนหลวงพระราชทานให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อใช้ช่วยเหลือประชาชนชาวไทยอยู่ในทุกวันนี้ และเพื่อให้การทำฝนหลวงมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นประเทศไทย ยังคงต้องพัฒนาองค์ความรู้และปรับปรุงเทคโนโลยีในการทำฝนหลวงอยู่เสมอ 
 
           อย่างไรก็ตาม หลังจากการลงนามแล้ว ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทยจะให้คำปรึกษาแนะนำ ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานของการเริ่มกระบวนการ เงื่อนไขในการตัดสินใจแต่ละขั้นตอน จนคณะผู้แทนการทำฝนหลวงฝ่ายจอร์แดนสามารถปฏิบัติการทำฝนหลวงเองได้ พร้อมทั้งมีหน่วยงานรองรับการทำงานด้วยตนเอง ซึ่งเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือการถ่ายทอดความรู้ให้ต่างประเทศ จนสามารถปฏิบัติการฝนหลวงได้ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ
 
            สุดท้ายนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช  และสมเด็จพระราชาธิบดี อับดุลเลาะห์ที่ ๒ อิบน์ อัล-ฮุสเซนแห่งจอร์แดน ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจของรัฐบาลทั้งสองฝ่าย ผมเชื่อว่าการปฏิบัติการฝนหลวงในจอร์แดนจะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ และประชาชนชาวจอร์แดนจะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือของสองประเทศ ทั้งนี้ ขอให้ฝ่ายจอร์แดนทำการศึกษาวิจัยและปรับเปลี่ยนเทคนิคบางอย่างให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของจอร์แดน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำฝนหลวงต่อไปในอนาคต”
 
            ในช่วงท้ายของพิธีลงนาม รมว. กษ. ทั้งสองฝ่าย พร้อมด้วยอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาจอร์แดนได้ร่วมกันตอบข้อซักถามของสื่อมวลชนในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือด้านฝนหลวง อาทิ ผลสำเร็จของการใช้เทคโนโลยีฝนหลวงในจอร์แดนซึ่งมีสภาพดินฟ้าอากาศแตกต่าง  จากไทย ผลกระทบของการใช้สารฝนหลวงต่อสิ่งแวดล้อมในจอร์แดน และความต่อเนื่องของการสนับสนุนจากไทยในการดำเนินโครงการ

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ