นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ ๑

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ ๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 มี.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,027 view

เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๙ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ ๑ ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ในฐานะประธานร่วมกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน โดยมีสมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ดร. สาย หมอก คำ รองประธานาธิบดีเมียนมา และนายฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เข้าร่วมการประชุม โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร่วมเดินทางพร้อมคณะนายกรัฐมนตรีด้วย

ที่ประชุมได้ทบทวนความคืบหน้าของกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว และได้วางรากฐานการดำเนินความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต โดยกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครอบคลุม ๓ สาขา ได้แก่ (๑) การเมืองและความมั่นคง (๒) เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (๓) สังคม วัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน และกำหนด ๕ ประเด็นที่เป็นความสำคัญลำดับต้น ได้แก่ ความเชื่อมโยง อุตสาหกรรมและการผลิต เศรษฐกิจข้ามพรมแดน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การเกษตรและการลดความยากจน

การประชุมครั้งนี้ ผู้นำประเทศสมาชิกให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำเป็นพิเศษ เนื่องจากสมาชิกทุกประเทศตั้งอยู่บนแม่น้ำสายเดียวกัน และเผชิญกับความท้าทายร่วมกัน โดยเฉพาะภัยแล้ง น้ำท่วม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อหลักของการประชุม “Shared River, Shared Future” ซึ่งนายกรัฐมนตรีและประเทศสมาชิกอื่น ๆ ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลจีนที่ได้ดำเนินการปล่อยน้ำให้แก่ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงในช่วงภาวะภัยแล้ง โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอให้รัฐบาลจีนพิจารณาดำเนินการเช่นนี้เป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องในช่วงหน้าแล้ง นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการศึกษา

กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง มีวัตถุประสงค์เพื่อลดช่องว่างทางการพัฒนา ส่งเสริมการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี สนับสนุนการเป็นประชาคมอาเซียน มุ่งดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกประเทศ และการเพิ่มคุณค่าให้กับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ อาทิ อาเซียน - จีน และ GMS ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในรูปแบบใต้ - ใต้ และสอดรับกับนโยบายที่ไทยให้ความสำคัญในการปฏิรูปประเทศและในวาระที่จะดำรงตำแหน่งประธาน G77 ในปีนี้ด้วย

ที่ประชุมผู้นำได้รับรองเอกสารผลลัพธ์ ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) ปฏิญญาซานย่า ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างครอบคลุม (๒) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิต ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นความร่วมมือหลัก (๓) รายการโครงการเร่งด่วนเพื่อดำเนินการทันที ซึ่งมี ๔๕ โครงการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ไม่ใช่เพียงเวทีหารือ แต่เน้นการปฏิบัติเพื่อผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยจะจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อหารือรายละเอียดและเริ่มดำเนินโครงการเหล่านี้โดยเร็ว

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจีนได้ประกาศให้ทุนการศึกษาและเงินทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง รวมถึงกองทุนอื่น ๆ สำหรับประเทศสมาชิกด้วย ซึ่งประเทศสมาชิกได้แสดงความขอบคุณจีนในเรื่องนี้

นอกจากนี้ ไทยและจีนได้มีการพบหารือทวิภาคีทั้งในระดับนายกรัฐมนตรีและระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความร่วมมือในกรอบแม่โขง - ล้านช้าง และความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศด้วย
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ