อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิด
(Convention on Certain Conventional Weapons: CCW)
1. ภูมิหลัง
ที่ประชุม Conference on the Prohibitions of Restrictions on the Use of Certain Conventional Weapons Which May Be Deemed to Be Excessively Injurious or to Have Indiscriminate Effects ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 34 ได้ให้การรับรอง อนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้อาวุธตามแบบบางชนิดที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงเกินความจำเป็นหรือก่อให้เกิดผลโดยไม่จำกัดเป้าหมาย หรือ Convention on Prohibitions or Restrictions on the Use of Certain Conventional Weapons Which May Be Deemed to Be Excessively Injurious or to Have Indiscriminate Effects (CCW) หรือ Inhumane Weapons Convention เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2523 และอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2526 โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการจำกัดการใช้อาวุธตามแบบบางชนิดที่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บร้ายแรงโดยไม่จำเป็นต่อพลรบและก่อให้เกิดการบาดเจ็บโดยไม่แบ่งแยกต่อพลเรือน
2. ภาพรวม
อนุสัญญา CCW ประกอบด้วยอนุสัญญาแม่บท และพิธีสารแนบท้าย โดยอนุสัญญาแม่บทเป็น Framework ที่กำหนดขอบเขต สถานการณ์ที่อนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ การเข้าเป็นภาคีไว้อย่างกว้าง ๆ ส่วนพิธีสารแนบท้ายแต่ละฉบับจะกำหนดข้อห้าม/ข้อจำกัดในการใช้อาวุธแต่ละชนิดไว้ ซึ่งการมีพิธีสารแยกตามชนิดของอาวุธดังกล่าว ซึ่งเป็นจุดเด่นของอนุสัญญา CCW ที่สะท้อนว่าอนุสัญญาฯ ยังเป็นกระบวนการที่มีพลวัต และมีความหยืดหยุ่น (Flexibility) ในการเปิดโอกาสให้มีการจัดทำพิธีสารที่ตอบสนองความสนใจของประชาคมในด้านการควบคุมอาวุธ หรือการพัฒนาทางเทคโนโลยีด้านอาวุธใหม่ ๆ ในอนาคต นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับกลไกที่มีผลผูกพันทางกฎหมายด้าน WMD ซึ่งเน้นด้านการห้ามใช้อย่างสิ้นเชิง (Total ban) แล้วพิธีสารแต่ละฉบับของ CCW วางมาตรการควบคุม มากกว่าที่จะห้ามใช้ เพราะ CCW เกี่ยวข้องกับอาวุธตามแบบ และเชื่อมโยงกับสิทธิในการป้องกันตนเองตามกฎบัตรสหประชาชาติ
3. รัฐภาคี
สหประชาชาติได้เปิดให้ประเทศต่าง ๆ ลงนามในอนุสัญญาฯ วันที่ 10 เมษายน 2524 และอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้เมื่อ 2 ธันวาคม 2526 โดยรัฐภาคี จะต้องเลือกยอมรับพิธีสารต่อท้ายอนุสัญญาฯ ฉบับใดก็ได้ อย่างน้อยจำนวน 2 ฉบับ ปัจจุบัน (ธันวาคม 2556) มีรัฐภาคีอนุสัญญาฯ จำนวน 117 ประเทศ
4. อนุสัญญาแม่บทของ CCW
อนุสัญญาแม่บทของ CCW (ปี ค.ศ. 1980) ระบุให้อนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธระหว่างประเทศ[3] ต่อมาในปี ค.ศ. 2001 ได้มีการแก้ไขอนุสัญญาแม่บทให้มีผลบังคับใช้ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธที่ไม่มีลักษณะระหว่างประเทศด้วย [4] แต่ไม่รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบภายในประเทศ (Internal disturbance) เช่น จราจล หรือความวุ่นวายอื่นที่ไม่ใช่ความขัดแย้งทางอาวุธ และเรียกว่า อนุสัญญา CCW แก้ไข ค.ศ. 2001 (CCW as amended on 21 December 2001)
5. พิธีสารแนบท้าย
5.1 พิธีสารฉบับที่ 1 (Protocol on Non-Detectable Fragments) ห้ามการใช้อาวุธใดก็ตามที่มีผลเบื้องต้นทำให้บุคคลได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด ซึ่งเมื่อสะเก็ดนั้นอยู่ในร่างกายแล้วไม่อาจตรวจพบได้โดยการเอ๊กซ์เรย์
5.2 พิธีสารฉบับที่ 2 (Protocol on Prohibitions or Restrictions on the Use of Mines, Booby-Traps and Other Devices) ห้ามหรือจำกัดการใช้ทุ่นระเบิด (ทั้งประเภทสังหารบุคคล ต่อต้านยานพาหนะและแสวงเครื่อง) กับดัก และอาวุธอื่น ๆ (ซึ่งหมายถึงอาวุธที่วางด้วยมือ รวมถึงอาวุธระเบิดอื่นใดที่ออกแบบไว้เพื่อการสังหาร ก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือการทำลาย และทำให้ระเบิดด้วยมือด้วยการควบคุมจากระยะไกล) ซึ่งต่อมาได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม (ข้อ 6.1)
5.3 พิธีสารฉบับที่ 3 (Protocol on Prohibitions or Restrictions on the Use of Incendiary Weapons): ควบคุมการใช้อาวุธเพลิง
5.4 พิธีสารฉบับที่ 4 (Protocol on Blinding Laser Weapons) รับรองเมื่อเดือนตุลาคม 2538 มีผลใช้บังคับต่อรัฐภาคีเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเกี่ยวกับการห้ามการใช้อาวุธแสงเลเซอร์ที่มีผลทำให้ตาบอดถาวร
5.5 พิธีสารฉบับที่ 5 (Protocol on Explosive Remnants of War) ซึ่งกำหนดแนวทางการเก็บกู้และกำจัดวัตถุระเบิดซึ่งตกค้างจากสงครามและส่งผลกระทบด้านมนุษยธรรมต่อพลเรือน โดยพิธีสารฉบับที่ 5 นี้ นับเป็นพิธีสาร ฉบับล่าสุด รับรองเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2546 และเริ่มมีผลบังคับใช้ต่อรัฐภาคีตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2549
6. การแก้ไข (amendments) อนุสัญญาฯ ที่สำคัญ ได้แก่
6.1 ระหว่างการประชุมทบทวนอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2538 ได้มีการแก้ไขอนุสัญญาฯ ในส่วนของพิธีสารฉบับที่ 2 (protocol II) ซึ่งได้เพิ่มการระบุถึงการควบคุมการถ่ายโอนทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และการห้ามใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่มีส่วนประกอบของเหล็กน้อยกว่าที่อุปกรณ์เก็บกู้ทุ่นระเบิดแบบมาตรฐานจะสามารถตรวจค้นได้
6.2 ระหว่างการประชุมทบทวนอนุสัญญาฯ ครั้งที่ 2 ปี 2544 ได้มีการแก้ไขอนุสัญญาแม่บทในส่วนของข้อบทที่ 1 (Article 1) ด้านขอบเขตการบังคับใช้อนุสัญญาฯ โดยปรับให้อนุสัญญาฯ สามารถมีผลใช้บังคับได้กับสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธที่เกิดขึ้นภายในรัฐภาคีอนุสัญญาฯ ด้วย (situations of non-international armed conflict) ในขณะที่ข้อบทเดิมระบุเพียงว่าอนุสัญญาฯ มีผลใช้บังคับกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐภาคี (situations of international armed conflict) เท่านั้น
7. กลไกการประชุมในกรอบ CCW
การประชุมเกี่ยวกับ CCW ใช้หลักฉันทามติ และมีการหารือตามส่วนของอนุสัญญาฯ ดังนี้
7.1 การประชุมทบทวน (Review Conference) จัดขึ้นเป็นประจำทุก 5 ปี ครั้งล่าสุด คือการประชุมทบทวนครั้งที่ 4 โดยลาสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 14-25 พฤศจิกายน 2554 ณ นครเจนีวา
7.2 การประชุมรัฐภาคี (Meeting of the High Contracting Parties) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปียกเว้นในปีที่มีการประชุมทบทวน
7.3 การประชุมผู้เชี่ยวชาญภาครัฐ (Meeting of the Group of Governmental Experts) จัดขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี 2545 ประมาณ 3-5 ครั้งต่อปี
สำหรับการประชุมตามส่วนพิธีสารต่าง ๆ มีการประชุม ดังนี้
7.4 การประชุมรัฐภาคีประจำปีของพิธีสารฉบับที่ 2 (แก้ไข) (Annual Conference of the High Contracting Parties to Amended Protocol II) จัดขึ้นตามข้อบทที่ 13 ของพิธีสารฉบับที่ 2 (แก้ไขปี ค.ศ. 1996) ประจำทุกปี โดยล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ณ นครเจนีวา
7.5 การประชุมรัฐภาคีของพิธีสารฉบับที่ 5 (Conference of the High Contracting Parties to Protocol V) จัดขึ้นตามข้อบทที่ 10 (1) ของพิธีสารฉบับที่ 5 และผลการประชุมทบทวนครั้งที่ 3 ประจำทุกปี โดยล่าสุดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2556 ณ นครเจนีวา
8. พัฒนาการเกี่ยวกับอนุสัญญาฯ
8.1 นับตั้งแต่การประชุมทบทวนอนุสัญญา CCW ครั้งที่ 3 ในเดือน พฤศจิกายน 2549 เป็นต้นมา ประเด็นสำคัญที่มีการหารือในกรอบ CCW คือ การสร้างความเป็นสากลของอนุสัญญาฯ โดยได้มีการรับรองแผนปฏิบัติการเพื่อเร่งรัดการดำเนินการดังกล่าว (Plan of Action on the Universalization of the Convention)
8.2 ประเด็นสำคัญที่เคยได้รับการหยิบยกขึ้นหารือในกรอบ CCW แต่ภายหลังมีการยุติการเจรจาไป ได้แก่ การจัดทำร่างพิธีสารเกี่ยวกับระเบิดพวง (พิธีสารฉบับที่ 6: Alternative Protocol on Cluster Munitions) และความพยายามในการเพิ่มขอบเขตของพิธีสารฉบับที่ 3 (การควบคุมการใช้ระเบิดเพลิง) ให้รวมถึงการใช้ฟอสฟอรัสขาว
8.3 ประเด็นสำคัญที่เคยได้รับการหยิบยกขึ้นหารือในกรอบ CCW ในปัจจุบัน ได้แก่
8.3.1 ความพยายามบรรจุเรื่องทุ่นระเบิดที่นอกเหนือจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Mines Other Than Anti-Personnel Mines – MOTAPM) เพิ่มเติมไว้ในอนุสัญญาฯ โดยที่ประชุมรัฐภาคีครั้งล่าสุด (พฤศจิกายน 2556) ได้เห็นชอบให้บรรจุการหารือในประเด็นเกี่ยวกับ MOTAPM เข้าในระเบียบวาระการประชุมรัฐภาคีครั้งต่อไป (agenda item 9: “Other matters relevant to the CCW including MOTAPM”)
8.3.2 ที่ประชุมรัฐภาคีครั้งล่าสุด (พฤษภาคม 2556) ได้เห็นชอบให้มีการจัดการประชุม Expert Meeting on Autonomous Lethal Weapons (ALWs) ระหว่างวันที่ 13 – 16 พฤษภาคม 2557 เพื่อหารือในประเด็นเกี่ยวกับ อากาศยานไร้คนขับ Drones