วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ก.พ. 2559
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๒ – ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ร่วมกับคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะ
อิหร่านเป็นตลาดการค้าที่มีศักยภาพของภูมิภาคตะวันออกกลาง และเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ ในขณะที่ไทยเป็นประตูสู่อาเซียนและมีความสมบูรณ์ในด้านอาหาร ทั้งสองประเทศจึงมีลักษณะที่เสริมกันได้อย่างพอดี การเยือนอิหร่านครั้งนี้จึงเป็นการดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้ลักษณะที่เสริมกันดังกล่าวมีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น การส่งออกข้าวและยางพาราไปยังอิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่นานาชาติผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน
ในระหว่างการเยือนอิหร่านครั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้นำรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของไทยพบหารือกับนาย Mohammad Shariatmadari รองประธานาธิบดีอิหร่าน (ฝ่ายบริหาร) จากนั้น ได้ร่วมกันเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจไทยและอิหร่าน ซึ่งจัดขึ้น ณ Saadabad Palace โดยสองฝ่ายได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางในการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีและหาช่องทางขยายความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ พาณิชยกรรม พลังงาน อุตสาหกรรม วิชาการ เกษตรกรรม และวิทยาศาสตร์
ฝ่ายอิหร่านแสดงความประสงค์ให้ภาคเอกชนของไทยไปลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ศูนย์การค้า และการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่น ๆ ตลอดจนขยายความร่วมมือทางการเงินการธนาคาร นอกจากนี้ ฝ่ายอิหร่านยังมุ่งมั่นที่จะเพิ่มพูนจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างกัน โดยได้เชิญชวนนักท่องเที่ยวไทยให้เดินทางไปยังอิหร่านมากขึ้นด้วย
ในระหว่างการเยือนอิหร่านครั้งนี้ ภาครัฐทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านจำนวน ๕ ฉบับ ดังนี้
๑) ความตกลงทางการค้าระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
๒) เอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมด้านเศรษฐกิจ พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม วิชาการ เกษตร และวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ ๙
๓) ความตกลงความร่วมมือด้านนาโนเทคโนโลยี ระหว่างศูนย์นาโนเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสภาพัฒนานาโนเทคโนโลยีแห่งชาติอิหร่าน
๔) หนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนความรู้และบุคลากรในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาชีววัตถุและวัคซีน ระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับสถาบันพาสเตอร์แห่งประเทศอิหร่าน
๕) หนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือระหว่างบริษัทซินนาเจนแห่งสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ราชอาณาจักรไทย
อนึ่ง ในปี ๒๕๕๗ การค้าไทย – อิหร่าน มีมูลค่ารวม ๓๕๗.๑๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยส่งออก ๓๒๒.๑๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สินค้าออกที่สำคัญ ได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง และข้าว) และนำเข้าจากอิหร่าน ๓๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สินค้าเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ และเคมีภัณฑ์) โดยอิหร่านเป็นคู่ค้าลำดับที่ ๑๑ ของไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในขณะที่ไทยเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ ๓ ของอิหร่านในภูมิภาคอาเซียน
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **