วันที่นำเข้าข้อมูล 25 พ.ย. 2558
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๒๑ - ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๗ และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น ๑๑ การประชุม ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับคู่เจรจา ได้แก่ จีน อินเดีย สหรัฐฯ นิวซีแลนด์ (เนื่องในโอกาสความสัมพันธ์ครบรอบ ๔๐ ปี) สาธารณรัฐเกาหลี ญี่ปุ่น และสหประชาชาติ นอกจากนี้ ยังมีการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี) การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก และการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนบวกสามกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเชียตะวันออก
การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้นำอาเซียนได้ประกาศจัดตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ รวมถึงประกาศวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ และแผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ ซึ่งมีระยะเวลา ๑๐ ปี (๒๕๕๙-๒๕๖๘) ประกอบด้วยประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม
ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการรวมตัวและความเชื่อมโยงที่มากขึ้นในภูมิภาค อาทิ ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ ภัยพิบัติ การโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และอาชญากรรมไซเบอร์ นอกจากนี้ ยังยืนหยัดที่จะร่วมมือกันต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดสุดโต่งรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยได้ประณามการก่อการร้าย ณ กรุงปารีสและในที่ต่าง ๆ สำหรับประเด็นโครงสร้างสถาปัตยกรรมภูมิภาค ผู้นำให้ความสำคัญกับการรักษาและส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียน เพื่อให้สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับมหาอำนาจและคู่เจรจาอย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ โดยในการประชุมครั้งนี้ อาเซียนได้ยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และนิวซีแลนด์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับประเด็นที่ประชาคมระหว่างประเทศกำลังจับตามอง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยผู้นำอาเซียนได้ยืนยันความพร้อมเข้าร่วมการประชุม COP21 ณ กรุงปารีส ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๘ และสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งผู้นำได้แสดงความห่วงกังวลและเน้นย้ำให้คลี่คลายปัญหาโดยสันติวิธีและการเจรจา
ประเด็นที่ไทยผลักดันในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การสร้างประชาคมที่มีความเข้มแข็งจากภายในมีความเป็นเอกภาพ ความร่วมมือเพื่อพัฒนาภาคการเกษตร การท่องเที่ยวทางทะเล การใช้ประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบ ๑+๑ เพื่อส่งเสริมอาเซียนในฐานะตลาดและฐานการผลิตเดียว เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดช่องว่างด้านการพัฒนา โดยมีเป้าหมายให้ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ และประชาชนอาเซียนก้าวหน้าไปด้วยกัน
ผู้นำอาเซียนได้ลงนามเอกสารสำคัญ ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๑๕ (๒) ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕: มุ่งหน้าไปด้วยกัน ซึ่งรับรองวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ และแผนงานประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ เเละ (๓) อนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก รวมทั้งรับรองเอกสารอี่น ๆ อีก ๑๘ ฉบับ ซึ่งแสดงเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความร่วมมือทั้งภายในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทที่แข็งขันของอาเซียนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
ในโอกาสการประชุมนี้ ผู้นำอาเซียนและจีนได้เป็นสักขีพยานการลงนามพิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรอบด้านและความตกลงที่เกี่ยวข้องระหว่างอาเซียนและจีน และนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการแถลงความคืบหน้าการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) พร้อมผู้นำของประเทศสมาชิก RCEP อีก ๑๕ ประเทศ (ประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย) ซึ่งได้ให้ ความเห็นชอบการขยายเวลาการเจรจาให้เสร็จสิ้นภายในปี ๒๕๕๙
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **