วันที่นำเข้าข้อมูล 17 พ.ย. 2558
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia – Pacific Economic Cooperation — APEC) ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒๗ ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “การสร้างเศรษฐกิจที่มีส่วนร่วม การสร้างโลกที่ดีขึ้น (Building Inclusive Economies, Building a Better World)”
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันความร่วมมือต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียเอเชียแปซิฟิกให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยสาระสำคัญของการประชุมครั้งนี้มีดังนี้
๑) การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ช่วงที่ ๑: การเติบโตอย่างครอบคลุมผ่านเศรษฐกิจที่บูรณาการ (Inclusive Growth through Integrated Economies)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวต่อที่ประชุมถึงเป้าหมายของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปคในการผลักดันความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนเพื่อมุ่งสู่การบูรณาการทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ การเปิดตลาดเสรีของเขตเศรษฐกิจทั้ง ๒๑ เขตของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีเอเปค (FTAAP) ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมที่จะศึกษาและผลักดันความร่วมมือดังกล่าว
ประเทศไทยสนับสนุนการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อปรับระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปดังกล่าวควรเป็นไปอย่างรอบด้านและนำเอานวัตกรรมมาใช้ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพตาม “ยุทธศาสตร์เอเปคเพื่อเสริมสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ (APEC Strategy for Strengthening Quality Growth)*” และวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ที่ได้รับการรับรองในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา
๒) การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ช่วงที่ ๒: การเติบโตอย่างครอบคลุมผ่านชุมชนที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น (Inclusive growth through Sustainable and Resilient Communities)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศตระหนักถึงพัฒนาการและศักยภาพของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก อย่างไรก็ตาม เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ในภูมิภาคกำลังเผชิญกับสิ่งท้าทายต่าง ๆ ซึ่งไม่จำกัดอยู่เพียงมิติเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน การบริหารจัดการน้ำ การรับมือกับภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอแนวทาง ๔ ประการ ในการรับมือกับสิ่งท้าทายเหล่านี้ ได้แก่ หนึ่ง การพัฒนาชุมชนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) สอง การพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ประกอบไปด้วยการยกระดับคุณภาพของการศึกษา โดยเฉพาะการบ่มเพาะคุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการนี้ ประเทศไทยพยายามมุ่งสู่การเป็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่มธุรกิจการค้า ทั้งขนาดกลาง ขนาดเล็ก และรายย่อย (Micro, Small, and Medium Enterprises—MSMEs) ในการแข่งขัน สาม การให้ทุกคนได้รับโอกาสและผลประโยชน์จากการเติบโตด้านเศรษฐกิจ โดยไม่ทอดทิ้งผู้ด้อยโอกาสไว้ข้างหลัง อาทิ สนับสนุนการจ้างงานผู้พิการและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ สี่ โดยที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) จึงควรปรับปรุงสภาพการทำงานให้มีความยืดหยุ่นและยกระดับมาตรฐานทางการแพทย์ให้สูงขึ้น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสดงความมุ่งมั่นให้ข้อเสนอดังกล่าวมีผลเป็นรูปธรรม โดย หนึ่ง ประเทศไทยจะร่วมมือกับทุกเขตเศรษฐกิจของเอเปค เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการของเอเปคให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ สอง ประเทศไทยพร้อมที่จะนำเสนอปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน สาม ในโอกาสที่จะรับตำแหน่งประธานกลุ่ม G77 ซึ่งประกอบไปด้วย ๑๓๔ ประเทศ ในปี ๒๕๕๙ ประเทศไทยพร้อมจะแสดงบทบาทเป็นสะพานเชื่อม (Bridge Builder) ระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน
***************************
* “ยุทธศาสตร์เอเปคเพื่อเสริมสร้างการเติบโตอย่างมีคุณภาพ (APEC Strategy for Strengthening Quality Growth)” ประกอบไปด้วยแนวทางการดำเนินงานใน ๓ ด้าน ได้แก่ ๑) ความเข้มแข็งของสถาบันต่างๆ (Institution Building) ๒) เอกภาพของสังคม (Social Cohesion) และ ๓) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Impacts)
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **