รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย – ยุโรป ครั้งที่ ๑๒ ณ ลักเซมเบิร์ก

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย – ยุโรป ครั้งที่ ๑๒ ณ ลักเซมเบิร์ก

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 พ.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,515 view

         เมื่อวันที่ ๕ – ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย – ยุโรป ครั้งที่ ๑๒ (12th ASEM Foreign Ministers’ Meeting – ASEM FMM 12) ที่ลักเซมเบิร์ก ภายใต้หัวข้อ “Working Together for a Sustainable and Secure Future” โดยมี ๕๑ ประเทศสมาชิก จากเอเชียและยุโรปเข้าร่วมประชุม

          การประชุม ASEM FMM 12 ประกอบด้วย ๒ วาระ ดังนี้

          ๑) การประชุมแบบเต็มคณะ (Plenary) ซึ่งหารือกันใน ๒ หัวข้อ ได้แก่ (ก) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วาระ ๒๐๓๐ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการจัดการและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (2030 Agenda for Sustainable Development and Disaster Risk Reduction and Management) และ (ข) การเชื่อมโยงและอนาคตของ ASEM (Connectivity and the Future of ASEM) ซึ่งมีความสำคัญและถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เนื่องจาก ASEM เริ่มต้นเป็นการหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสองภูมิภาค (East Meet West) เพื่อให้มีปฏิสัมพันธ์และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการหารือเกี่ยวกับแผนการในการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือในทุกมิติให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น (Action Orientation) โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองภูมิภาค เพื่อให้ทั้งสองภูมิภาคมีความเข้าใจซึ่งกันและกันเกี่ยวกับสถานะและความสามารถของแต่ละประเทศ โดยความเชื่อมโยงดังกล่าวจะเป็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนทิศทางในอนาคตของการประชุม ASEM ทั้งนี้ ไทยมีบทบาทสำคัญในผลักดันเรื่องดังกล่าว โดยการจัดการประชุมจัดทำเอกสาร Bangkok Initiatives on the Future Direction of ASEM เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๘ เพื่อสรุปข้อคิดเห็นต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการหารือเกี่ยวกับอนาคตของ ASEM ซึ่งได้เวียนให้แก่ที่ประชุมในครั้งนี้ด้วย

         ในโอกาสนี้ ตัวแทนเยาวชน จาก Asia – Europe Foundation (ASEF) Youth Leaders’ Summit ได้กล่าวในที่ประชุม โดยย้ำว่า เยาชนเป็นพลังสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะเยาวชนสามารถให้และข้อคิดเห็นแก่ผู้นำประเทศ เพื่อให้นโยบายของรัฐมีความรอบคอบ ครอบคลุม และเกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ เยาวชนจะเติบโตเป็นผู้นำในอนาคต ดังนั้น การพัฒนาการสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเป็นการลงทุนในระยะยาว เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

          ๒) การประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ซึ่งเป็นการหารือเกี่ยวกับหัวข้อความมั่นคงเป็นหลัก อาทิ การกำจัดปัญหาความรุนแรง (Extremism) การโยกย้ายถิ่นฐานอย่างไม่ปกติ และปัญหาในทะเลจีนใต้ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวว่า เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องแก้ไขร่วมกัน โดยต้องมีความเข้าเกี่ยวกับสถานการณ์และสถานะของประเทศต่าง ๆ รวมทั้งต้องมีการติดตามและเอาใจใส่เกี่ยวกับสถานการณ์ด้วย

          นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำกับอียูว่า ในฐานะที่ไทยได้รับหน้าที่เป็นผู้ประสานงานอาเซียน – สหภาพยุโรปในขณะนี้ และจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน – สหภาพยุโรปในปี ๒๕๕๙ จึงต้องวางแผนแนวทางร่วมกันที่จะทำให้การประชุมดังกล่าวประสบความสำเร็จ ซึ่งถือเป็นขั้นตอนต่อไปในการกระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

          การประชุม ASEM FMM 12 สะท้อนให้ถึงความจำเป็นที่ประเทศสมาชิกและนานาชาติต้องร่วมมือแก้ปัญหาต่าง ๆ ร่วมกัน โดยเวที ASEM ถือเป็นเวทีหนึ่งที่มีศักยภาพสูงในการสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ต่าง ๆ และสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหานั้นอย่างมีประสิทธิภาพ   

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ