วันที่นำเข้าข้อมูล 7 ส.ค. 2558
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๘ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมงานวันระลึกการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ณ ศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์กองทัพไทย เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา แหลมแท่น จังหวัดชลบุรี ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่บ้านพักตากอากาศของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และเป็นสถานที่ที่ผู้นำสมาชิกก่อตั้งอาเซียน ๕ ประเทศ ณ ขณะนั้น ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ได้ร่วมกันหารือแนวทางการจัดตั้งอาเซียนในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๐ ก่อนที่จะนำมาสู่การลงนามใน “ปฏิญญากรุงเทพฯ” (Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๑๐ ณ กระทรวงการต่างประเทศ (วังสราญรมย์) กรุงเทพฯ โดยงานครั้งนี้มีนายเล เลือง มินห์ เลขาธิการอาเซียน พร้อมด้วยคณะทูตานุทูตและแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วม ในงานดังกล่าวได้มีการบรรเลงเพลงอาเซียน พิธีเชิญธงอาเซียนและธงชาติประเทศสมาชิก ๑๐ ประเทศขึ้นสู่ยอดเสา และการปล่อยนกพิราบ ๔๙ ตัวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ ในระหว่างพิธีเปิด รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้กล่าวถึงแนวทางในการมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยย้ำเรื่องการเป็นประชาคมที่มีกติกาและมีการพัฒนาค่านิยมและบรรทัดฐานร่วมกัน รวมทั้งมีประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยยึดหลักการ “อาเซียนไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” (No one is left behind) และ “ทุกคนมีสิทธิมีเสียง” (Everyone has a voice) โดยอาเซียนจะต้องลดช่องว่างในระดับการพัฒนา เสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกัน (Connectivity) รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาความมั่นคงทางอาหาร และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อการบรรเทาสาธารณภัย (HADR) ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งของประชาชนร่วมกันในภูมิภาค
ในช่วงบ่าย รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน ณ อาคารหอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน กรุงเทพฯ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศในการให้ข้อมูลต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนผ่านการนำเสนอในรูปแบบงานนิทรรศการอันมีชีวิต ภายใต้หมวดหมู่ที่สำคัญ อาทิ อัตลักษณ์วัฒนธรรมของอาเซียน คุณค่าความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และภูมิปัญญาของผู้คนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับเกียรติจากเลขาธิการอาเซียนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมของไทย รวมทั้ง รัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกอาเซียน ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูตของประเทศสมาชิกอาเซียนในไทยเข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศแรกที่ดำเนินการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์ ตามยุทธศาสตร์ การเสริมสร้างอัตลักษณ์ร่วมของอาเซียน การเสริมสร้างความเข้าใจและการอยู่ร่วมในวัฒนธรรมที่หลากหลายภายใต้แผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๘ (ASEAN Socio-Cultural Community Blueprint 2009-2015) ซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของอาเซียนคือจุดแข็งและพลังที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนมีเอกภาพและมีพลังมากยิ่งขึ้น
ในระหว่างพิธีเปิดศูนย์วัฒนธรรมอาเซียน รองนายกรัฐมนตรีฯ ได้เยี่ยมชมนิทรรศการตราไปรษณียากรชุดประชาคมอาเซียน ซึ่งถือเป็นตราไปรษณีย์ชุดประวัติศาสตร์ โดยความร่วมมือของการไปรษณีย์ของสมาชิกอาเซียนและกำหนดจำหน่ายในวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๘ พร้อมกันทั้ง ๑๐ ประเทศ การออกตราไปรษณีย์ดังกล่าวสะท้อนถึงความเป็นเอกภาพของประเทศสมาชิกเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสวันครบรอบการก่อตั้งอาเซียน และการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๕๘ ตลอดจนยังเป็นการสร้างความตระหนักรับรู้เกี่ยวกับอาเซียนในระดับประชาชนอย่างกว้างขวาง
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **