เมื่อวันที่ ๒๙ มิ.ย. ๒๕๕๙ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีสร่วมกับมูลนิธิมั่นพัฒนาและองค์การยูเนสโกจัดงานสัมมนาในหัวข้อ Sufficiency Economy Philosophy: Culture and Values towards Sustainable Development ระหว่างเวลา ๑๔.๓๐ – ๑๗.๐๐ น. มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยเอกอัครราชทูตและนักการทูตของประเทศต่าง ๆ ตลอดจนผู้แทนหน่วยงานองค์การระหว่างประเทศในกรุงปารีสประมาณ ๕๐ คน โดยมูลนิธิมั่นพัฒนาได้เรียนเชิญ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ประธานสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย (Future Innovative Thailand Institute) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและอดีตเลขาธิการอาเซียนเป็นผู้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Sufficiency Economy Philosophy: A Cultural Aspect of Sustainable Development”โดยนาง Ana-Luiza Thompson Flores, Assistant Director-General of the Bureau of Strategic Planning เป็นผู้แทนของผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก กล่าวเปิดงานสัมมนาและบรรยายหัวข้อ “Role of National Culture in Sustainable Development”หลังจากเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีสกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมทุกคนแล้ว ซึ่งนาง Thompson-Flores ได้กล่าวถึงความสำคัญของวัฒนธรรมและการศึกษาต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย $ เสาหลัก คือ เสาเศรษฐกิจ เสาสังคม และเสาสิ่งแวดล้อม และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทยก็มีเป้าประสงค์เช่นเดียวกัน
ดร. สุรินทร์ฯ ได้กล่าวว่าโลกปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายที่หลากหลาย โดยเฉพาะความเสื่อมสลายของทรัพยากรโลก เช่น น้ำสะอาด อากาศที่สะอาด ซึ่งจะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งของโลกในอนาคต ภายในปี ๒๐๕๐ จะมีประชากรเพิ่มขึ้นจาก ๗ พันล้านคนในปัจจุบันเป็น ๙ พันล้านคน มนุษย์ต้องเผชิญกับปัญหาอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ ภาวะโลกร้อน ความยากจน การพลัดถิ่นฐาน (internal displacement of people) ฯลฯ คำถามคือ คนรุ่นใหม่จะอยู่กันอย่างไร ทางออกหนึ่งคือการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งยึดถือสามหลักการสำคัญได้แก่ ความพอประมาณ (moderation) ความมีเหตุมีผล (reasonableness) และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี (self-immunity)มาประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตและช่วยการพัฒนาที่ยั่งยืน การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตรงกับวัตถุประสงค์/เป้าหมายที่ ดร. Julian Huxley เลขาธิการ UNESCO คนแรกเคยได้กล่าวไว้เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๔๖ว่ามนุษยชาติจะต้องแสวงหาจุดหมายปลายทางร่วมกันมิฉะนั้นจะสูญพันธุ์ในที่สุด ซึ่งหมายถึงมนุษย์ต้องหาวิธีรวมตัวกันให้ได้เพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องเลวร้ายที่จะเกิดขึ้น หนทางแก้ไขปัญหานั้นคือการศึกษา ซึ่งตรงกับแนวพระราชดำริในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือเป็นคำตอบหนึ่งเพราะพระองค์ทรงเห็นความยากลำบากของพสกนิกรในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๙๗ และได้พระราชทานแนวคิดนี้เพื่อช่วยนำพาประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจได้สำเร็จ
นอกจากนี้ ในช่วงเช้าของวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๕๕๘ ดร.สุรินทร์ฯ ยังได้มาบรรยายเกี่ยวกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ชุมชนชาวไทยในกรุงปารีสประมาณ ๓๐ คน ณ ห้องประชุมสถานเอกอัครราชทูตฯ