รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS)

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 มิ.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 2,480 view

             เมื่อวันที่ ๒๒  มิถุนายน ๒๕๕๘ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเพื่อเตรียมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ ๖ ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งประกอบด้วย ๕ ประเทศสมาชิก ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และไทย โดยเมียนมาร์ เป็นประธานการประชุม สำหรับกรอบความร่วมมือนี้ ไทยเป็นผู้ริเริ่มและร่วมผลักดันกับประเทศสมาชิก

             พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกรได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า การจัดการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่สำคัญในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจในปลายปี ๒๕๕๘ พร้อมทั้งได้เน้นประเด็นหลักที่ประเทศไทยต้องการขับเคลื่อนภายใต้กรอบความร่วมมือ ACMECS ดังนี้  

๑) การเชื่อมโยงคมนาคม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการเร่งรัดการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มีบทบาทในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาค อาทิ สะพานข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ ๒ เชื่อมระหว่างอำเภอแม่สอด จังหวัดตากและเมียวดี เมียนมาร์สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ ๔ ซึ่งเชื่อมเส้นทาง R3 ระหว่างไทย ลาว และจีน การสร้างถนนเชื่อมระหว่างเชิงเขาตะเนาศรี ถึง กอกะเร็กในประเทศเมียนมาร์ นอกจากนี้ ไทยพร้อมสนับสนุนโครงการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ต่อไป โดยไทยมุ่งผลักดันการอำนวยความสะดวกการขนส่งข้ามพรมแดนควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

๒) การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน ไทยสนับสนุนให้มีการผ่อนคลายกฎระเบียบ สนับสนุนให้มีการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าขาย และการยกระดับมาตรฐานความโปรงใสในการทำธุรกิจ

๓) การท่องเที่ยว ไทยส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศ ACMECS ภายใต้แนวคิด “๕ ประเทศ ๑ จุดหมาย” เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังอนุภูมิภาคอย่างน้อย ๕๐ ล้านคนภายในปี ๒๕๕๘

๔) การพัฒนาอย่างยั่งยืน ไทยสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน ๔ ประเด็น ได้แก่ การแก้ปัญหาโรคระบาด เช่น เมอร์ส ไข้หวัดนก เป็นต้น การเข้าถึงบริการสาธารณสุข ความมั่นคงทางด้านอาหาร และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประเทศไทยมีบทบาทที่สำคัญในการให้สนับสนุนทางด้านความร่วมมือและทางวิชาการ ซึ่งได้สร้างและปรับปรุงโรงพยาบาลในประเทศลาว ให้ความร่วมมือด้านการฝึกอบรมบุคลากร ตลอดจนการให้ทุนการศึกษากับประเทศเพื่อนบ้าน

              นอกจากนี้ ไทยยังมุ่งเน้นที่จะใช้กรอบความร่วมมือของ ACMECS ในการเชื่องโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษกับประเทศเพื่อนบ้านภายใต้แนวคิด “ไทยบวกหนึ่ง” (Thailand Plus One) ซึ่งไทยส่งเสริมโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจทวาย โดยจะมีการลงนาม MOU ๒ ฉบับ ระหว่างไทย-เมียนมาร์-ญี่ปุ่น และการสถาปนาเมืองคู่แฝด อาทิ การลงนามข้อตกลงระหว่างแม่สอด – เมียวดี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการเป็นฐานการผลิตของภูมิภาค ซึ่งเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน  

              การประชุมรัฐมนตรี ACMECS ครั้งนี้ ได้ผลักดันแนวคิดการพัฒนาที่คำนึงถึงประชาชนในฐานะหัวใจหลัก และเน้น ๘ สาขาความร่วมมือ อันได้แก่ การอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน การเกษตร อุตสาหกรรมและพลังงาน การเชื่อมโยงคมนาคม การท่องเที่ยว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โดยได้เห็นชอบที่จะเสนอร่างปฏิญญากรุงเนปิดอว์การประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ ๖ และแผนปฏิบัติการ ACMECS ปี ๒๕๕๙ – ๒๕๖๑ ต่อที่ประชุมระดับผู้นำเพื่อพิจารณารับรองต่อไป

              นอกจากจะประสบความสำเร็จในการหารือในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภูมิภาคการประชุมรัฐมนตรี ACMECS ครั้งนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกที่จะพัฒนาร่วมกันและเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเพื่อให้เกิดการพัฒนาไปด้วยกันอันจะนำความมั่งคั่ง และมั่นคงอย่างยั่งยืนมาสู่ประชาชนในอนุภูมิภาค

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ