การประชุมนานาชาติ The Bangkok Symposium on Landmine Victim Assistance

การประชุมนานาชาติ The Bangkok Symposium on Landmine Victim Assistance

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 มิ.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 2,943 view

         เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๘ นายนรชิต สิงหเสนี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมนานาชาติ The Bangkok Symposium on Landmine Victim Assistance: Enhancing a Comprehensive and Sustainable Mine Action ซึ่งประเทศไทย ในฐานะรัฐภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Anti-Personnel Mine Ban Convention) และสมาชิกคณะกรรมการด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกรอบอนุสัญญาฯ ร่วมกับฝ่ายเลขานุการ (Implementation Support Unit) ของอนุสัญญาฯ เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๘

         ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเปิดการประชุมโดยย้ำว่า หลักการและความพยายามด้านมนุษยธรรมเป็นแกนกลางของนโยบายต่างประเทศของไทยมาโดยตลอด ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ โดยมีแนวปฏิบัติที่ดีเชื่อมโยงระหว่างการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดเข้ากับการส่งเสริมสิทธิของผู้พิการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Convention on the Rights of Persons with Disabilities - CRPD) ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดได้อย่างเป็นระบบ มีการประสานงานที่ดี และครอบคลุมรอบด้านตั้งแต่การให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ในระยะฉุกเฉินไปจนถึงการฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจในระยะยาว

         นายมาร์ก มีคีลเซิน (Marc Michielsen) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียมประจำประเทศไทย ได้ร่วมกล่าวเปิดการประชุมในฐานะที่ปัจจุบันเบลเยียมดำรงตำแหน่งประธานของอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคลโดยกล่าวว่า เบลเยียมเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มแรกที่ออกกฎหมายภายในประเทศเพื่อห้ามการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและยังร่วมกับแคนาดา ออสเตรเลีย และนอร์เวย์ ผลักดันให้อนุสัญญาฯ สามารถมีผลบังคับใช้ในปี ๒๕๔๒ เบลเยียมยังคงมุ่งมั่นให้อนุสัญญาฯ ได้รับการยอมรับอย่างเป็นสากล เพื่อให้โลกปราศจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และผู้ประสบภัย จากทุ่นระเบิดทุกคนได้รับการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างทั่วถึง

         การประชุมดังกล่าวมุ่งเน้นการหารือเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดสังหารบุคคล อย่างรอบด้านและยั่งยืน โดยคำนึงถึงทั้งอุปสรรคทางร่างกายและอุปสรรคด้านอื่น ๆ ที่ผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดต้องเผชิญในการดำเนินชีวิตประจำวัน ตามที่แผนปฏิบัติการมาปูโต (Maputo Action Plan) และแถลงการณ์มาปูโต+๑๕ (Maputo + 15 Declaration) ซึ่งรับรองในการประชุมทบทวนอนุสัญญาฯ ครั้งที่ ๓ เมื่อปี ๒๕๕๗ ได้วางหลักการไว้ว่า รัฐภาคีอนุสัญญาฯ มีพันธกรณีจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดในประเทศของตนอย่างสมบูรณ์ โดยคำนึงถึงมิติด้านต่าง ๆ อย่างครบถ้วน ได้แก่ การสาธารณสุข สวัสดิการสังคม การศึกษา การจ้างงาน การพัฒนา และการลดความยากจน

        การประชุมดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนประมาณ ๑๐๐ คน จาก ๓๔ ประเทศ และ ๙ องค์การระหว่างประเทศ และองค์กรพัฒนาเอกชนต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศที่มีผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดเป็นจำนวนมากและประเทศผู้บริจาค โดยในระหว่างการประชุมครั้งนี้ วิทยากรและผู้เข้าร่วมประชุมจะหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ระหว่างกันเพื่อพัฒนาการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดให้ครอบคลุมรอบด้านและยั่งยืนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมบางส่วนยังจะได้เดินทางไปศึกษาดูงานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดและการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตกค้างที่โรงพยาบาลสุรินทร์ ระหว่างวันที่ ๑๖ - ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๘และสนามทุ่นระเบิด ในพื้นที่อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ