วันที่นำเข้าข้อมูล 30 เม.ย. 2558
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๒๖ – ๒๘ เมษายน ๒๕๕๘ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๖ และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์และลังกาวี ประเทศมาเลเซีย การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ประชาชนของเรา ประชาคมของเรา วิสัยทัศน์ของเรา” (Our People, Our Community, Our Vision)
ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๖ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมการประชุมอย่างเป็นทางการ (Plenary) และไม่เป็นทางการ (Retreat) การประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ ๙ แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT)
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม นายกรัฐมนตรีได้ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการประชุมว่า ไทยสนับสนุนให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางของการเป็นประชาคมอาเซียน และส่งเสริมภาคการเกษตรให้มีความเข้มแข็ง เพื่อไม่ให้เกษตรกรไหลออกจากภาคการผลิต ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs
สำหรับการหารือระดับผู้นำอาเซียน ที่ประชุมเน้นการหารือเพื่อสร้างความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียนบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันของภูมิภาค โดยมองข้ามความขัดแย้งหรือความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน และเน้นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอในที่ประชุมว่า น่าจะมีการส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยสร้างเครือข่ายให้กับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ (Young Entrepreneur) ที่มีศักยภาพในอนาคต เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจอาเซียนโดยรวม
ในการประชุมในครั้งนี้ได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ ๓ ฉบับ ได้แก่ ๑) ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Kuala Lumpur Declaration on People-Centred ASEAN) ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาคมตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชนอาเซียนเป็นสำคัญ ผ่านการดำเนินงานอย่างบูรณาการภายใต้ ๓ เสา ได้แก่ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยไทยสามารถผลักดันข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ให้ปรากฏอยู่ในปฎิญญาดังกล่าว อาทิ การส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ตลอดจนการเร่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่อาเซียนในด้านต่างๆ ๒) ปฏิญญาลังกาวีว่าด้วยขบวนการผู้ยึดถือทางสายกลางระดับโลก (Langkawi Declaration on Global Movement of Moderates) เพื่อส่งเสริมแนวคิดสายกลางและการยอมรับความแตกต่าง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างสันติภาพในภูมิภาค และ ๓) ปฏิญญาว่าด้วยการสร้างประชาคม และประชาชนอาเซียนที่มีความเข้มแข็ง รู้รับ ปรับตัว ฟื้นกลับจากภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นทางการ (Declaration on Institutionalising the Resilience of ASEAN and Its Communities and Peoples to Disasters and Climate Change) ซึ่งสะท้อนความมุ่งมั่นของผู้นำอาเซียนที่จะร่วมมือกันในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่างๆ
ข้อมูลและภาพจาก http://www.thaigov.go.th/
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **