นายดมิทรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๗ – ๘ เมษายน ๒๕๕๘

นายดมิทรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๗ – ๘ เมษายน ๒๕๕๘

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 เม.ย. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,752 view

เมื่อวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายดมิทรี เมดเวเดฟ (Mr. Dmitry Medvedev) นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซีย (Chairman of the Government of the Russian Federation) ได้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าร่วมพิธีต้อนรับที่รัฐบาลไทยจัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรี และหารือข้อราชการกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือเต็มคณะ ร.อ. นพ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความยินดีต้อนรับนายกรัฐมนตรีรัสเซียในการเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ โดยเป็นการพบกันอีกครั้งหลังจากได้พบหารือกันเมื่อปลายปีที่แล้วระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ณ กรุงเนปิดอว์  และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ไทยและรัสเซียบรรลุการลงนามความตกลงระหว่างภาครัฐจำนวน ๕ ฉบับ และจะมีการลงนามความตกลงระหว่างภาคเอกชนรัสเซียกับภาคเอกชนไทยอีก ๕ ฉบับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและรัสเซียกำลังขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีรัสเซียได้เสนอให้มีการพิจารณาความตกลงด้านอื่นๆ ที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณา อาทิ การส่งผู้ร้ายข้ามแดน ทรัพย์สินทางปัญญา การวิจัยด้านอวกาศ การจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรม ความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อจะได้ลงนามและใช้บังคับให้เกิดผลประโยชน์และความร่วมมือในด้านต่างๆ ต่อไป

ด้านความสัมพันธ์ไทย - รัสเซีย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัสเซียเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยมาอย่างยาวนาน ไทยและรัสเซียจะร่วมกันฉลองในวาระครบรอบ ๑๒๐ ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - รัสเซีย ในปี ๒๕๖๐ โดยจะมีกิจกรรมและโครงการที่จะนำไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ทั้งในระดับรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนของทั้งสองประเทศ ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้ฝากความปรารถนาดีไปยังนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และได้กล่าวเชิญประธานาธิบดีรัสเซียมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

โดยทั้งสองฝ่ายยังได้แสดงเจตจำนงทางการเมืองร่วมกันที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทย - รัสเซียให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีรัสเซียได้มอบหมายให้การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (JC) ซึ่งรัสเซียเสนอจะเป็นเจ้าภาพในกลางปี ๒๕๕๘ ไปหารือเพื่อกำหนดแผนงานให้มีผลเป็นรูปธรรมต่อไป โดยนายกรัฐมนตรีรัสเซียได้แสดงความยินดีที่ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเดินทางไปร่วมการประชุมดังกล่าว รวมทั้งเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ารัสเซียด้วย นอกจากนี้ ฝ่ายรัสเซียได้ถือโอกาสเชิญนายกรัฐมนตรีไทยไปเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ

ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เป็นหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ๒๕๕๙ โดยจะเปิดตลาดสินค้าระหว่างกันให้มากขึ้น พร้อมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนซึ่งนับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการขยายการค้าระหว่างกัน นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนของผู้แทนการค้าและภาคเอกชนระหว่างไทยกับรัสเซีย โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั้งสองประเทศได้รู้จักและคุ้นเคยกับตลาดมากขึ้น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอให้การจัดทำโครงการเมืองพี่เมืองน้องทางธุรกิจ (Sister Cities for Commercial Cooperation) เพื่อผลักดันเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางธุรกิจและเศรษฐกิจระหว่างเมืองของไทยกับของรัสเซีย

ความร่วมมือทางด้านการลงทุน นายกรัฐมนตรีไทยและรัสเซียต่างยินดีที่ภาคเอกชนทั้งสองฝ่ายจะร่วมลงนามในความตกลง ๕ ฉบับในวันนี้ เพราะความตกลงดังกล่าวจะช่วยขยายความร่วมมือทางธุรกิจของสองประเทศ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้รัสเซียเข้ามาลงทุนในโครงการ Rubber City และบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนการลงทุนในลักษณะ "ไทยบวกหนึ่ง" ซึ่งจะได้รับสิทธิสิทธิประโยชน์พิเศษด้านการลงทุนจากทางการ ซึ่งทางรัสเซียได้แสดงความสนใจที่จะมาตั้งโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถบรรทุกในประเทศไทย พร้อมกับกล่าวเชิญชวนให้ภาคเอกชนไทยไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจใหม่บริเวณภาคตะวันออกของรัสเซีย (Far-Eastern Economic Zone) โดยเฉพาะในสาขาอาหารและสินค้าเกษตร  อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยเห็นว่านักลงทุนไทยยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนและกฎระเบียบจากฝ่ายรัสเซีย จึงต้องขอข้อมูลเพิ่มเติมจากฝ่ายรัสเซียด้วย

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีรัสเซียยังได้กล่าวเชิญชวนให้ไทยพิจารณาเข้าร่วมความตกลงเขตการค้าเสรียูเรเชียน (Eurasian Economic Union Free Trade Zone) ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก ๕ ประเทศ รวมทั้งรัสเซียและมีประชากรรวมกันกว่า ๗๐๐ ล้านคน ซึ่งไทยรับที่จะไปพิจารณาต่อไป

ด้านอาหารและสินค้าเกษตร นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความขอบคุณรัฐบาลรัสเซียที่ให้การสนับสนุนในการนำเข้าอาหารและสินค้าเกษตรจากไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเนื้อสุกร ซึ่งเมื่อปีที่แล้วไทยสามารถส่งออกสินค้าเนื้อสุกรแช่แข็งไปยังรัสเซียได้ เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงเรื่องการลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจเอกชนระหว่างกัน นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันความพร้อมของไทยที่จะส่งออกสินค้ายางพาราไปรัสเซีย เพื่อรองรับความต้องการสินค้ายางพาราของรัสเซียซึ่งนำไปใช้ในการตลาดการผลิต รถยนต์ที่กำลังเติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง จึงขอให้รัฐบาลรัสเซียสนับสนุนการนำเข้าสินค้ายางพาราจากไทยเพิ่มขึ้นและ พิจารณาผ่อนปรนกฎระเบียบการนำเข้าต่าง ๆ รวมถึงการรับรองโรงงานผลิตเนื้อไก่แปรรูป และผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของไทยเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีรัสเซียรับที่จะไปพิจารณาปริมาณความต้องการยางพาราในประเทศ และแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบในโอกาสแรก รวมทั้งจะเร่งรัดรับรองโรงงานผลิตอาหารของไทยเพิ่มขึ้น

ความร่วมมือทางด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม นายกรัฐมนตรีไทยและรัสเซียต่างยินดีที่ทั้งสองฝ่ายได้บรรลุการลงนามในแผนดำเนินกิจกรรมร่วมด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยและรัสเซีย ค.ศ. ๒๐๑๕ - ๒๐๑๗ ซึ่งครอบคลุมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างกัน และสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับการดูแลนักท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายในดินแดนของแต่ละประเทศด้วย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ชาวรัสเซียนิยมมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลไทยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลและแก้ไขปัญหาที่เกิดกับนักท่องเที่ยวทุกชาติอย่างใกล้ชิด และเชิญชวนนักท่องเที่ยวรัสเซียเยี่ยมเยือนจังหวัดต่างๆของไทยมากขึ้น ส่วนความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความรู้สึกยินดีที่รัสเซียมีแผนจะจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมรัสเซียที่กรุงเทพฯ ในอนาคตอันใกล้

ด้านพลังงาน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือด้านก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ โดยให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปหารือกันในรายละเอียดต่อไป

ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความสนใจที่จะมีความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมกับรัสเซียในสาขาต่างๆ อาทิ เทคโนโลยี และระบบผลิตไฟฟ้า ซึ่งรัสเซียยินดีที่จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาแลกเปลี่ยนกับฝ่ายไทย

ความร่วมมือด้านการศึกษา นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยให้ความสำคัญกับการขยายความร่วมมือด้านการศึกษาและการแลกเปลี่ยนเยาวชนด้วย เนื่องจากจะทำให้ประชาชนทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจระหว่างกันดีมากขึ้น ทั้งนี้ รัสเซียพร้อมที่จะให้ทุนแก่นักศึกษาไทยเพื่อไปศึกษาต่อที่รัสเซียเพิ่มขึ้น และได้ตั้งศูนย์การศึกษาด้านเอเชียแปซิฟิกที่มหาวิทยาลัย Far-Eastern ในประเทศไทยด้วย

ความร่วมมือในกรอบพหุภาคี ไทยยินดีที่จะสนับสนุนการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน - รัสเซีย เพื่อเฉลิมฉลองความร่วมมือระหว่างอาเซียน - รัสเซียครบรอบ ๒๐ ปี ในปี ๒๕๕๙ ด้วย

ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือเต็มคณะ นายกรัฐมนตรีไทยและรัสเซียได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงทวิภาคีระหว่างไทยกับสหพันธรัฐรัสเซีย ได้แก่

1) บันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงพลังงานไทยกับกระทรวงพลังงานสหพันธรัฐรัสเซียว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน ผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ผู้ลงนามฝ่ายรัสเซีย คือ Mr.Alexander Novak, Minister of Energy of the Russian Federation
2) แผนการดำเนินกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับรัสเซีย ค.ศ. ๒๐๑๕ – ๒๐๑๗ ผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผู้ลงนามฝ่ายรัสเซีย คือ Mr.Oleg Safonov, Head of the Federal Agency for Tourism
3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่งราชอาณาจักร ไทยกับกระทรวงวัฒนธรรมแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ผู้ลงนามฝ่ายไทย คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ลงนามฝ่ายรัสเซีย คือ Mr.Vladimir Medinsky, Minister of Cultural of the Russian Federation
4) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านยาเสพติดระหว่างสำนักงานคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งราชอาณาจักรไทยกับสำนักงานเพื่อการควบคุมยาเสพติดแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย
5) บันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกับกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย

นอกจากนี้ ยังมีการลงนามความตกลงระหว่างภาคเอกชนไทยกับภาคเอกชนรัสเซีย ได้แก่

1) Memorandum of understanding between Inter RAO – Engineering LLC, Power Machines OJSC and Turbo Machinery (Thailand) Co., Ltd
2) Memorandum of understanding between Research and Production Company “Armastek”, LLC, Russia (hereinafter referred to as AMT) and “PanjawattanaPlastic”, to be PCL, Thailand (hereinafter referred to as PJW) regarding introduction of “ArmastekGFRP” fiberglass reinforcement fittings to the market of the Kingdom of Thailand
3) Memorandum of Understanding between JSC “Russian Railways” and Banpu Public  Company Ltd. in relation to the Kalimantan Railway Infrastructure and Sea Coal Terminal Project
4) Memorandum of Understanding between Non-Commercial Partnership for Development and Use of Navigation Technologies (GLONASS) and GEORADIUS Thailand Private Limited
5) Memorandum of Understanding between Moscow State Regional University and Siam Technology College

หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีไทยและรัสเซียได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นการหารือทั้งในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี เศรษฐกิจ การลงทุน และสังคมวัฒนธรรม รวมถึงประเด็นระหว่างประเทศที่สองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน จากนั้น ในเวลา ๑๒.๓๐ น. นายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐรัสเซียและคณะ ณ ตึกสันติไมตรี

 

(ที่มา: http://www.thaigov.go.th)

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ