การสัมมนา “การเดินเรือตามแนวชายฝั่งทะเล (Coastal Shipping): ทางเลือกการส่งออกไทย - กัมพูชา - เวียดนาม”

การสัมมนา “การเดินเรือตามแนวชายฝั่งทะเล (Coastal Shipping): ทางเลือกการส่งออกไทย - กัมพูชา - เวียดนาม”

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.พ. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 4,320 view

     เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศได้เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนา “การเดินเรือตามแนวชายฝั่งทะเล (Coastal Shipping): ทางเลือกการส่งออกไทย - กัมพูชา - เวียดนาม” ที่โรงแรมแกรนด์ เอราวัณ ไฮแอท โดยเป็นการต่อยอดจากการหารือระหว่างพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับนายเหวียน เติ๊น สุง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในการเยือนเวียดนามระหว่างวันที่ ๒๗ – ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ซึ่งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะผลักดันการเดินเรือตามแนวชายฝั่งทะเลจากภาคตะวันออกของไทยผ่านกัมพูชา ไปยังภาคใต้ของเวียดนาม เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างสามประเทศ
      การสัมมนาดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ ประมาณ ๑๓๐ คน โดยมีนายณรงค์ ศศิธร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานกล่าวเปิดสัมมนาฯ และมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ และประสบการณ์ร่วมบรรยายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จากทั้งภาครัฐ ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน (อาทิ นายณรงค์ ธีรจันทรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด น.ส.พรรณพิมล สุวรรณพงศ์ กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ นางจีระนันท์ วงศ์มงคล อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ  นายนิยม ไวยรัชพานิช รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นายชเนศร์ เพ็ญชาติ เลขาธิการสมาคมเจ้าของเรือไทย นางดวงใจ จันทร นักธุรกิจระหว่างประเทศ ผู้แทนจากกระทรวงคมนาคมและการท่าเรือแห่งประเทศไทย)
     สาระสำคัญของการสัมมนาฯ สรุปได้ดังนี้ (๑) การขนส่งทางเรือตามแนวชายฝั่งทะเลระหว่างไทย - กัมพูชา - เวียดนามมีศักยภาพสูงและควรได้รับการส่งเสริมให้เป็นระบบมากขึ้น เนื่องจากเป็นรูปแบบการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับทางบกและทางอากาศ มีความปลอดภัยสูง และกระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด (๒) การเดินเรือดังกล่าวยังมีศักยภาพเป็นเส้นทางและเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในอ่าวไทยและในภูมิภาค เพราะมีทัศนียภาพที่สวยงามและเป็นเส้นทางที่ผ่านเมืองริมชายฝั่งที่เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยว และยังสามารถพัฒนาให้รองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ได้ในอนาคต ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณนักท่องเที่ยวและกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อีกมาก
     ปัจจุบันไทย กัมพูชา และเวียดนามมีท่าเรือและมีผู้ประกอบการที่เดินเรือในเส้นทางดังกล่าวอยู่ เป็นจำนวนน้อยและไม่เป็นระบบ เนื่องจากยังมีการส่งสินค้าระหว่างกันไม่มาก โดยเฉพาะจากเวียดนามมาไทย นอกจากนี้ การขนส่งทางเรือตามแนวชายฝั่งยังต้องแข่งขันกับการขนส่งทางบกที่มีการบรรทุกสินค้าเกินน้ำหนักกว่าที่กฎหมายอนุญาต ซึ่งทำให้ต้นทุนการขนส่งทางบกต่ำกว่าความเป็นจริง  สำหรับเรือที่ใช้ในการเดินเรือตามแนวชายฝั่งเป็นเรือขนาดเล็ก ประมาณ ๕๐๐ – ๑,๐๐๐ ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรือประมงที่นำมาดัดแปลง และยังไม่ได้มาตรฐานสากล ทำให้สินค้าอาจได้รับการกระทบกระเทือนระหว่างขนส่ง  อย่างไรก็ตาม สมาคมเจ้าของเรือไทยยืนยันว่า ไทยมีเรือที่มีมาตรฐานสากลที่ให้บริการในน่านน้ำสากลอยู่แล้วและพร้อมที่จะให้บริการเดินเรือเพื่อขนส่งสินค้าตามแนวชายฝั่งทะเล โดยปัจจัยสำคัญคือต้องมีอุปสงค์ในการขนส่งสินค้าที่เพียงพอและคุ้มทุน

     การส่งเสริมการเดินเรือตามแนวชายฝั่งดังกล่าวจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ในส่วนของภาครัฐ อาจพิจารณาจัดทำกรอบความตกลงระหว่างไทย-กัมพูชา–เวียดนาม  เพื่อรองรับและส่งเสริมการเดินเรือตามแนวชายฝั่งอย่างเป็นทางการ รวมทั้งจับคู่จังหวัดท้องถิ่นของสามประเทศเพื่อให้มีความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น  ในส่วนของภาคเอกชน ผู้บริการเรือขนส่งจะต้องพัฒนาคุณภาพและราคา เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการใช้การเดินเรือเป็นทางเลือกในการขนส่งมากขึ้น

     สำหรับการเดินเรือตามแนวชายฝั่งทะเลเพื่อการท่องเที่ยว  เวียดนามสนับสนุนการท่องเที่ยวทางเรือ โดยมุ่งส่งเสริมเส้นทางเดินเรือที่เชื่อมต่อไปยังเกาะฟูก๊วก ซึ่งเวียดนามจะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและมุ่งส่งเสริมการลงทุนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ในขณะที่กัมพูชาให้ความสำคัญแก่การพัฒนาชายฝั่งทะเลเช่นกัน โดยมีโครงการพัฒนาเกาะกง สีหนุวิลล์ กัมปอต และแกป อีกทั้งยังเห็นด้วยกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางเรือ   โดยเส้นทางการท่องเที่ยวทางเรือระหว่างสามประเทศที่มีศักยภาพคือ เกาะช้าง-สีหนุวิลล์–เกาะฟูก๊วก
 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ