รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนมุ่งสู่วิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี ๒๕๕๘

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนมุ่งสู่วิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี ๒๕๕๘

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ม.ค. 2558

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 26 พ.ย. 2565

| 1,995 view

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหารือรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนมุ่งสู่วิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี ๒๕๕๘

เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๘ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างไม่เป็นทางการ ณ เมือง โกตากินาบาลู มาเลเซีย รายละเอียด ดังนี้

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวแสดงความสนับสนุนบทบาทของมาเลเซียในการเป็นประธานอาเซียนในปี ๒๕๕๘ ซึ่งได้กำหนดหัวข้อหลัก (theme) ของปีนี้ว่า “Our People, Our Community, Our Vision” หรือประชาชนของเรา ประชาคมของเรา วิสัยทัศน์ของเรา และกำหนดประเด็นเร่งด่วน ๘ ประการ อาทิ การบรรลุเป้าหมายเรื่องการสร้างประชาคมอาเซียน การกำหนดวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี ๒๕๕๘ และสร้างความใกล้ชิดระหว่างอาเซียนกับประชาชน

ในประเด็นการสร้างประชาคมอาเซียน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับประเด็นการธำรงค์ไว้ซึ่งความเป็นแกนหลักของอาเซียน (centrality) ท่ามกลางสถานการณ์ที่ผันแปรในภูมิภาค การเร่งดำเนินการตามแผนการสร้างประชาคมอาเซียน การส่งเสริมความเกื้อกูลทางเศรษฐกิจระหว่างกัน การปรับปรุงกฎหมายภายในให้เอื้อต่อการค้าการลงทุนอย่างเสรีในภูมิภาค การใช้แนวคิด ๑+๑ เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีชายแดนติดกัน อาทิ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน นอกจากนี้ ให้ความสำคัญกับการรับมือกับภัยคุกคามข้ามพรมแดนที่เกิดจากการรวมตัวเป็นประชาคม อาทิ การค้ามนุษย์ ยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ และแรงงานต่างด้าว

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสดงวิสัยทัศน์อาเซียนภายหลังปี ๒๕๕๘ ว่าอาเซียนจะต้องส่งเสริมความเป็นแกนหลักของอาเซียน เสริมสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับสำนักเลขาธิการอาเซียน เพิ่มบทบาทของประธานอาเซียน เน้นการสร้างประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและลดความเหลื่อมล้ำ อาเซียนควรขยายความสัมพันธ์กับมิตรประเทศใหม่ๆ ตามรูปแบบที่เหมาะสม และร่วมมือกันในการรักษาตลาดและราคาสินค้าทางการเกษตร เช่น ยางพาราและข้าว เป็นต้น นอกจากนี้ เน้นการส่งเสริมบทบาทและท่าทีของอาเซียนในเวทีโลก รวมทั้งแสดงความรับผิดชอบต่อประชาคมโลก เช่น การผลักดันการจัดตั้งกองกำลังเพื่อสันติภาพของอาเซียน (peacekeeping) การแสดงบทบาทการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance on Disaster Relief- HADR) นอกจากนี้ อาเซียนจำเป็นต้องส่งเสริมความสัมพันธ์เชิงลึกระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาทั้ง ๑๐ ประเทศ และในกรอบความสัมพันธ์ เช่น กรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ก็ควรเป็นไปในเชิงรุก

ในประเด็นทะเลจีนใต้ ที่ประชุมชื่นชมบทบาทในของไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน – จีน ที่ทำให้เกิดความคืบหน้าในการปฏิบัติตามแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea-DOC) การหารือเพื่อจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of conducts-COC) และขอให้ไทยช่วยเร่งการหารือกับจีนให้เกิดความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับภัยที่เกิดจากกลุ่มลัทธิหัวรุนแรงอีกด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ