การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การทูตวิทยาศาสตร์เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ครั้งที่ ๑

การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การทูตวิทยาศาสตร์เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ครั้งที่ ๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 พ.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 3,378 view

เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การทูตวิทยาศาสตร์เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ครั้งที่ ๑ ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ การประชุมดังกล่าว มีผู้แทนภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชนจากหน่วยงานและองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายการทูตวิทยาศาสตร์  ร่วมประชุมและระดมความคิดเห็น จำนวนประมาณ ๒๕๐ คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็นในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การทูตวิทยาศาสตร์เพื่อให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และกระทรวงการต่างประเทศใช้ร่วมกันในอนาคต

ในช่วงเช้า ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกล่าวเปิดการประชุมและมอบนโยบาย โดยดร.พิเชฐฯ เห็นว่า การทูตเชิงวิทยาศาสตร์ (Science Diplomacy) มีความหมายครอบคลุมในหลายมิติของการมีปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ไทยสามารถนำเอาวิทยาศาสตร์ของต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และต่อยอดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเพื่อให้ไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ทั้งนี้ ไทยจะต้องส่งเสริมการค้นคว้าและวิจัยทางวิทยาศาสตร์ให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๑ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องเพิ่มความเอาใจใส่ต่อบทบาทความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านวิทยาศาสตร์ให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์นั้น เป็นความร่วมมือที่ยากที่จะปฏิเสธ เพราะนานาประเทศต่างประสงค์จะพัฒนาองค์ความรู้ของประเทศตน การทูตเชิงวิทยาศาสตร์ (Science Diplomacy) จึงถือเป็นกลไกสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในอนาคต

หลังจากพิธีเปิด นายชุตินทร คงศักดิ์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ดำเนินการเสวนาในหัวข้อ “ภาพรวมและทิศทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการต่างประเทศ” ทั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมการเสวนา ได้เล่าถึงมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของโลก และความท้าท้ายสำหรับประเทศไทย รวมถึงหนทางในการพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมกับต่างประเทศ

ต่อมา ในช่วงบ่าย ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ได้แบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็นใน ๖ สาขาสำคัญ ได้แก่ (๑) เกษตรและอาหาร (๒) เทคโนยีทางการแพทย์ (๓) พลังงาน (๔) โครงสร้างพื้นฐานเพื่อภาคการผลิต (๕) โครงสร้างพื้นฐานเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัล และ (๖) การพัฒนากำลังคนและการศึกษา

ภายหลังจากการประชุมฯ ครั้งนี้ ทั้งสองกระทรวงจะได้นำผลจากการประชุมฯ ไปร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์การทูตวิทยาศาสตร์เสนอต่อรัฐบาลเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ