รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๒๖

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ ๒๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 7 พ.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,802 view

พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิก (Asia – Pacific Economic Cooperation – APEC) ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๒๖ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ ๖ – ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ โดยสรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

ในการประชุมรัฐมนตรี APEC และการหารืออย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศ APECรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวต่อที่ประชุมเกี่ยวกับความสำเร็จและบทบาทของ APEC ตลอด ๒๕ ปีที่ผ่านมา และได้แสดงความคิดเห็นต่อทิศทางของเอเปคในอนาคต โดยได้เน้นประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ได้แก่ 

๑) การส่งเสริมภาคเกษตรกรรมและสินค้าเกษตร เนื่องจากสมาชิกหลายเขตเศรษฐกิจ รวมถึงไทยเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ APEC จึงควรหาแนวทางส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงและความยุติธรรมในราคาสินค้าเกษตรและการเข้าถึงตลาดเพื่อช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้แก่ภูมิภาคและโลก

๒) การสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม และด้านการปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและบุคลากรระหว่างกัน ในส่วนของไทยได้วางแผนยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีนและอินเดีย รวมทั้งร่วมมือกับเพื่อนบ้านในการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน โดยการสร้างความเจริญเติบโตในอนุภูมิภาค จะเป็นการกระตุ้นการเติบโตของภูมิภาคด้วย ซึ่ง APEC สามารถให้ความช่วยเหลือในด้านการหาแหล่งเงินทุนและให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค

๓) การจัดการต่อความท้าทายที่มาจากความเชื่อมโยงระหว่างกันที่มากขึ้น อาทิ โรคติดต่อ และความหวาดกลัวต่อโรคติดต่อร้ายแรง เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา ซึ่งมีผลกระทบทั่วโลก จึงต้องร่วมมือกันแก้ไขโดยไทยมีประสบการณ์ในการจัดการกับปัญหาโรค SARS และไข้หวัดนก และได้เสนอให้มีการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในภูมิภาค เพื่อหารือถึงกลไกในการสร้างความร่วมมือในการป้องกันเชื้อไวรัสอีโบลา และการสร้างระบบเตือนภัยซึ่งมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นกลัวจนเกินกว่าเหตุ อันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับการขานรับจากจีนและฟิลิปปินส์

๔) การแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนระหว่างกันในกลุ่มสมาชิก APEC เนื่องจากการคอร์รัปชั่นทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยจะต้องแก้ไขด้วยการส่งเสริมความโปร่งใสในทุกขั้นตอน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญ

๕) การเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาภัยพิบัติ เนื่องจากเศรษฐกิจของกลุ่มสมาชิก APEC มีความยึดโยงถึงกัน ความเสียหายจากภัยพิบัติในพื้นที่หนึ่ง จึงส่งผลต่อพื้นที่อื่น ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และส่งผลต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น กรณีน้ำท่วม สึนามิ และพายุเฮอร์ริเคน ดังนั้น กลุ่มสมาชิก APEC ต้องร่วมมือในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติอย่างจริงจัง

การประชุมรัฐมนตรี APEC ดังกล่าว มีผู้นำระดับรัฐมนตรี จำนวน ๒๑ เขตเศรษฐกิจ เข้าร่วม ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม ชิลี แคนาดา จีน จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ จีนไทเป ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม ระหว่างการประชุม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มีโอกาสพบปะหารือทวิภาคีกับนาย Rimbick Pato รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและตรวจคนเข้าเมืองปาปัวนิวกินี และนาง Julie Bishop รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ในวันที่ ๗ และ ๘ พฤศจิกายน ตามลำดับ

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้พบปะพูดคุยกับผู้นำและบุคคลสำคัญของประเทศต่าง ๆ ระหว่างการประชุม อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนิวซีแลนด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเกาหลีใต้ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและการค้าคนที่สองของบรูไน เป็นต้น

การเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปคในครั้งนี้ นอกจากจะประสบความสำเร็จในการหารือในเรื่องต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตลาดการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงใน ๒๑ เขตเศรษฐกิจร่วมกันแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือของประเทศสมาชิกในกลุ่มเอเปค ในการเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลเกื้อกูลต่อด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกร่วมกันต่อไป 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ