การประชุมระดมสมอง เรื่องยุทธศาสตร์ไทยต่อการดำเนินความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

การประชุมระดมสมอง เรื่องยุทธศาสตร์ไทยต่อการดำเนินความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

วันที่นำเข้าข้อมูล 3 พ.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,218 view

เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวเปิดการประชุมระดมสมอง “ยุทธศาสตร์ไทยต่อการดำเนินความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” จัดโดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อปลายเดือนตุลาคม ศกนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางและบทบาทไทยในการให้ความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่าง ๆ  

ปลัดกระทรวงฯ ย้ำความสำคัญของกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อนโยบายการต่างประเทศของไทย ในการเป็นกลไกส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน และมีเป้าหมายช่วยลดช่องว่างในการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียนเพื่อสนับสนุนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และโดยที่สภาพแวดล้อมของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเปลี่ยนแปลงไป มีขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนมากขึ้น อนุภูมิภาคนี้จึงกลายเป็นพื้นที่แห่งโอกาส ซึ่งทำให้ประเทศมหาอำนาจ อาทิ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา อินเดีย แข่งขันกันเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไทยจึงจำเป็นต้องทบทวนบทบาทและยุทธศาสตร์ในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่าง ๆ เพื่อคงบทบาทสำคัญ และสร้างพลวัตรใหม่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยใช้ความได้เปรียบจากการที่ไทยตั้งอยู่ที่ใจกลางภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สร้างการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นเศรษฐกิจเดียวกัน ผ่านการพัฒนาความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบ  การพัฒนาเขตเศรษฐกิจชายแดน เส้นทางคมนาคมตามแนวชายแดน  และการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานไทยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ที่ประชุมเห็นว่า แต่ละกรอบความร่วมมือมีจุดเด่นที่ต่างกัน ไทยจึงควรส่งเสริมกิจกรรมตามจุดเด่นของแต่ละกรอบ อาทิ กรอบ GMS มีจุดเด่นเรื่องความเชื่อมโยง Mekong-Japan มีจุดเด่นเรื่องการส่งเสริมการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม  กรอบ ACMECS  ถือเป็นกรอบสำคัญเพราะเป็นกรอบที่ไทยริเริ่ม มีจุดเด่นเรื่องการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว การเกษตร และสาธารณสุขชายแดน  กรอบ Mekong-ROK มีจุดเด่นเรื่องการส่งเสริมการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และการพัฒนาชนบท และกรอบ LMI มีจุดเด่นเรื่องการอำนวยความสะดวกในบริบทของความเชื่อมโยง การสาธารณสุข และการศึกษา      

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยประสานงานหลักของไทยในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation) ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative: LMI) ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี (Mekong-ROK Cooperation) ความร่วมมือแม่น้ำโขง – คงคา (Mekong-Ganga Cooperation: MGC)

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ