วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ก.ย. 2557
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวปาฐกถาในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights AICHR) เรื่องการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ประเทศอาเซียนในการจัดทำรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UNIVERSAL PERIODIC REVIEW –UPR) ณ โรงแรม Rembrandt กรุงเทพฯ
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวถึงพัฒนาการของ AICHR ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคซึ่งมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง และย้ำถึงความสำคัญของการพิจารณาทบทวนขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ AICHR โดยเฉพาะการเสริมสร้างบทบาทของ AICHR ในการคุ้มครองสิทธิเพื่อให้ AICHR สามารถดำเนินการเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศสมาชิก ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือของ AICHR ในอนาคต ทั้งนี้ ไทยประสงค์ให้ AICHR จัดทำรายงานประเมินผลการดำเนินงานของตนเองให้แล้วเสร็จโดยเร็วและเห็นว่า AICHR ควรเป็นผู้รับผิดชอบการพิจารณาทบทวนขอบเขตอำนาจหน้าที่ของ AICHR ด้วยตนเอง
ปลัดกระทรวงการต่างประเทศยังได้กล่าวถึงกระบวนการจัดทำรายงาน UPR ว่า มีเป้าหมายสำคัญเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Commission on Human Rights) ในอดีต โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง สองมาตรฐาน และข้อจำกัดในการดำเนินการเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ต่าง ๆ แม้ในปัจจุบัน บางประเทศจะยังใช้รายงาน UPR เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือพยายามหาเสียงสนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นใจว่า จะมีการกล่าวถึงประเทศของตนในทางที่ดีในรายงานดังกล่าว แต่รายงาน UPR ก็มีประโยชน์อย่างยิ่งโดยเฉพาะข้อเสนอแนะ(recommendations) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council-HRC) และคุณค่าของกระบวนการ UPR ขึ้นอยู่กับความสามารถในการนำข้อเสนอแนะดังกล่าวมาปฏิบัติให้เกิดผลได้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า การที่ประเทศต่าง ๆ ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเสนอแนะได้ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการขาดเจตนารมณ์ที่จะดำเนินการแต่ขาดศักยภาพในการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อเสนอแนะ
ในระหว่างการอภิปราย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยได้เน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงาน UPR ของภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคประชาสังคม รวมทั้งที่ประชุมฯ ยังได้มีข้อเสนอแนะให้ AICHR มีบทบาทมากขึ้นในการสนับสนุนการจัดทำรายงาน UPR ของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยนอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิกแล้ว อาจพิจารณาจัดกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การจัดสถานการณ์จำลอง (mocked session) ในการนำเสนอรายงาน หรือการจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกันในระดับภูมิภาค เป็นต้น
การสัมนาเชิงปฏิบัติการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับผู้แทนไทยใน AICHR และถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานของ AICHR โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิกอาเซียนในการจัดทำรายงาน UPR รวมทั้งเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดทำรายงานตามกระบวนการ UPR การปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ และการเตรียมการการจัดทำรายงาน UPR ในรอบต่อไป
การสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีผู้แทนจากองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานตามกลไก UPR ทั้งของไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนเข้าร่วมประมาณ ๑๐๐ คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงภาครัฐ ภาคประชาสังคม ผู้แทน AICHR สมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ผู้แทนคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) และผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ในระหว่างการดำเนินการตามข้อเสนอแนะ รวมทั้งได้จัดตั้งกลไกตรวจสอบการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันให้ข้อเสนอแนะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยประเทศไทยจะเข้าสู่การทบทวนภายใต้กลไก UPR ครั้งที่สองในปี พ.ศ. ๒๕๕๙
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **