ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๙

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน - ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๙

วันที่นำเข้าข้อมูล 4 ก.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,062 view
​เมื่อวันที่ ๓ – ๔ กันยายน ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน – ญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒๙ ที่กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น
 
​ที่ประชุมฯ ได้ทบทวนและติดตามผลการดำเนินการตามถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น (Vision Statement on ASEAN- Japan Friendship and Cooperation) และถ้อยแถลงร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น สมัยพิเศษ (Joint Statement of ASEAN- Japan Commemorative Summit) ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฉลองครบรอบ ๔๐ ปีของความสัมพันธ์ฯ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๖ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมุ่งสร้างการเป็นหุ้นส่วน ๔ ด้าน ได้แก่ หุ้นส่วนเพื่อสันติภาพและความมั่นคง หุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรือง หุ้นส่วนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี และหุ้นส่วนจากใจถึงใจ
ในประเด็นด้านความมั่นคง ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญกับการสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และ ความไว้เนื้อเชื่อใจในภูมิภาค และสนับสนุนให้ประเทศต่าง ๆ รวมถึงมหาอำนาจมีการปฏิสัมพันธ์กันในเชิงสร้างสรรค์ และร่วมมือกันสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการ แก้ไขปัญหาที่มีอยู่ระหว่างกันบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ประชุมฯ ได้ย้ำถึงบทบาทสำคัญของญี่ปุ่นในการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่งคั่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออก การส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างอาเซียนกับญีปุ่นในประเด็นต่าง ๆ รวมทั้งการต่อต้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะการต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติ อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ การจัดการภัยพิบัติ โดยผ่านกรอบความร่วมมือที่มีอยู่ เช่น ASEAN-Japan Counter-Terrorism Dialogue และการใช้ประโยชน์จากกองทุน Japan-ASEAN Integration Fund (JAIF 2.0) เป็นต้น
ในด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการเพิ่มปริมาณการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน การผลักดันการจัดทำข้อตกลงด้านการลงทุนและการค้าบริการภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน  - ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Comprehensive Economic Partnership Agreement: AJCEP) เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจาจัดทำ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ที่กำลังดำเนินอยู่ให้แล้วเสร็จต่อไป รวมทั้งการเพิ่มบทบาทของญี่ปุ่นในการลดช่องว่างด้านการพัฒนาซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็งและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง นอกจากนี้ ญี่ปุ่นจะให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันในกรอบความร่วมมือแม่โขง  - ญี่ปุ่นตาม Tokyo Strategy 2012
ที่ประชุมฯ ยังให้ความสำคัญต่อการเชื่อมโยงในภูมิภาคผ่านการพัฒนาระบบขนส่ง และการดำเนินการตามแผนความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจของภูมิภาคที่เชื่อมประเทศในฝั่งมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกไว้ด้วยกัน รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ เช่น ท่าเรือน้ำลึกและถนน และการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างประชาชนผ่านการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน อาทิ โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน การให้ทุนการศึกษา การแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรม และสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์อาเซียน – ญี่ปุ่นในการส่งเสริมการค้า การท่องเที่ยว และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาค และระหว่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมบทบาทของอาเซียนและการมีส่วนร่วมของญี่ปุ่นในสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ทั้งในกรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียนบวกสาม กรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก  (EAS) ARF และ ADMM-Plus รวมทั้งการรับมือกับภัยจากโรคระบาดร้ายแรง โดยเฉพาะอีโบล่า​

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ