วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ส.ค. 2557
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ Regional Conference on “The Future of Security in the Asia-Pacific: Emerging Challenges, Promoting Conflict Management and Enhancing Cooperation in Maritime Areas” ณ โรงแรมสุโขทัย กรุงเทพฯ
การประชุมปฏิบัติการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นโดยผู้แทนภาครัฐและภาควิชาการเกี่ยวกับแนวโน้มด้านความมั่นคง การบริหารจัดการความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมความเชื่อมั่นและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจผ่านการทูตเชิงป้องกัน ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือทางทะเล เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและต่อยอดข้อเสนอแนะต่างๆ ในการลดความตึงเครียดและการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพตลอดจนเสริมสร้างสันติภาพ เสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาค
ในการกล่าวเปิดการประชุมฯ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศกล่าวถึงแนวโน้มของสภาวะการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคเอเชีย- แปซิฟิก ว่ามีการสวนทางกันระหว่างความเจริญทางเศรษฐกิจกับความมั่นคงในภูมิภาค ในขณะที่ภูมิเศรษฐศาสตร์ของภูมิภาคมีการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและต่อเนื่อง ภูมิศาสตร์การเมืองของภูมิภาคยังไม่ดำเนินไปในทางที่ดีเท่าที่ควรเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในเอเชีย-แปซิฟิกที่ยังไม่สงบ และต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ อาทิ ข้อพิพาททางทะเล การระบาดของโรคติดต่อ ภัยพิบัติและอาชญากรรมข้ามชาติ การแข่งขันและความสัมพันธ์ของประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งอินเดีย และรัสเซีย ซึ่งพยายามเพิ่มบทบาทมากขึ้นในภูมิภาค และกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อแนวโน้มและทิศทางของสภาวะทางภูมิรัฐศาสตร์ของภูมิภาค
ปลัดกระทรวงฯ ย้ำถึงความสำคัญของอาเซียนในการมีบทบาทและเป็นแกนกลางของภูมิภาคในการส่งเสริมเวทีที่เปิดกว้างสำหรับทุกฝ่ายในการหารืออย่างสร้างสรรค์และเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อแก้ไขข้อแตกต่าง นอกจากนี้อาเซียนจะต้องพิสูจน์ตัวเองในการเป็นองค์กรระดับภูมิภาคที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความยืดหยุ่น และมีบทบาทเชิงรุก
ในประเด็นข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ ปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่าประเทศในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกจำเป็นต้องแสดงสร้างความมั่นใจให้ได้ว่า สถานการณ์จะไม่มีทวีความตึงเครียด ต้องมีการเสริมสร้างค่านิยม และหลักปฏิบัติร่วม กลไกการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความเชื่อมั่นระหว่างกันตลอดจนเคารพในหลักการในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งอย่างสันติวิธี เช่น การจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) โดยเร็ว ประเทศผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทะเลจีนใต้ควรเน้นสร้างความร่วมมือที่สร้างผลประโยชน์ให้กับทุกฝ่าย (win-win) เช่น การวิจัยในด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและการค้นหาและช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติ นอกจากนี้ ประเทศมหาอำนาจมีบทบาทสำคัญในการสร้างสภาวะที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขความท้าทายในประเด็นทางทะเลด้วย
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงด้านความมั่นคงในภูมิภาคที่มีอย่างต่อเนื่อง ปลัดกระทรวงฯ ได้ย้ำถึงความสำคัญของการจัดการกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ทางการเมืองด้วยการเสริมสร้างศักยภาพของกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ อาทิ อาเซียน และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (EAS) ซึ่งอาเซียนมีบทบาทนำเพื่อให้กรอบและเวทีดังกล่าวเปิดกว้างสำหรับให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการหารือและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาความท้าทายต่างๆ ที่มีอยู่ในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **