ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๔ และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ ๒๑

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๔ และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ ๒๑

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ส.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,452 view

เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันระดับรัฐมนตรี (East Asia Summit – EAS) ครั้งที่ ๔ และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิก (ASEAN Regional Forum – ARF) ครั้งที่ ๒๑ ณ เนปิดอว์ ดังนี้

๑.   การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ ๔ : การประชุมประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและรัฐมนตรีต่างประเทศ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐฯ และรัสเซีย ที่ประชุมได้ติดตามผลของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกระดับผู้นำ ครั้งที่ ๘ ปี ๒๕๕๖ ที่ประชุมได้หารือ ๑) ความร่วมมือภายใต ๖ สาขาภายใต้กรอบ EAS ได้แก่ สิ่งแวดล้อม พลังงาน การศึกษา การเงิน ประเด็นสาธารณสุขระดับโลก โรคระบาด การบริหารจัดการภัยพิบัติและความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยที่ประชุมเห็นว่าจะต้องมีกิจกรรมการเชื่อมโยงในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบเอกสาร คือ ปฏิญญาว่าด้วยการป้องกันการค้าสัตว์ป่า (EAS Declaration on Combatting Wildlife Trafficking) ซึ่งร่างโดยไทย เมียนมาร์ เวียดนามและ สหรัฐฯ และแนวทางในการรับมือกับภัยพิบัติอย่างเร่งด่วน ( EAS Guidelines for Rapid Disaster Response) เพื่อนำเสนอให้ผู้นำรับรองในการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๙ ในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ   เนปิดอว์  ๒) ทิศทางของความร่วมมือในกรอบ EAS ซึ่งที่ประชุมประสงค์ให้ EAS เป็นเวทีหารือประเด็นด้านยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญกับสถาปัตยกรรมภูมิภาค โดยรัฐมนตรีต่างประเทศเห็นพ้องให้มีกลไกติดตามผลของการประชุมในระดับผู้นำ เพื่อให้มีความต่อเนื่อง นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเรื่องประเด็นที่เป็นที่สนใจและมีความสำคัญในภูมิภาคและนานาชาติ ได้แก่ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ สถานการณ์ในยูเครนและเหตุการณ์การยินเครื่องบิน MH 17 ซึ่งถูกยิงและผู้โดยสารหลายสัญชาติเสียชีวิต สะท้อนให้เห็นว่าเหตุการณ์ภายนอกมีผลกระทบต่อภูมิภาคนี้ และประเทศเกาหลีเหนือ โดยประเทศไทยเห็นว่า ประเทศสมาชิกจะต้องสร้างบรรยากาศเพื่อให้มีการเจรจา ๖ ฝ่ายเกิดขึ้น

๒.  การประชุมอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงในเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ ๒๑ เป็นการประชุมด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาค เอเชีย-แปซิฟิก อันประกอบด้วยสมาชิก ๒๖ ประเทศและอีก ๑ กลุ่มประเทศ (สหภาพยุโรป) ที่ประชุมได้พิจารณาและรับรองแผนงานการดำเนินงานของปีถัดไป ในส่วนของประเทศไทย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้แจ้งในที่ประชุมว่า ไทยจะเป็นเจ้าภาพจะเป็นประธานร่วมกับจีนในการประชุม ASEAN Regional Forum on Inter-Sessional Meeting on Counter Terrorism and Transnational Crime ในปี ๒๕๕๘ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือพัฒนาการต่างๆ ในภูมิภาค อาทิ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ และสถานการณ์นอกภูมิภาค

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ