วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ส.ค. 2557
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565
นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative – LMI) ครั้งที่ ๗ และการประชุมรัฐมนตรีมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง (Friends of the Lower Mekong – FLM) ครั้งที่ ๔ ในวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๔๗ ณ เนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
กรอบความร่วมมือทั้งสองมีวัตถุประสงค์เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเก่ากับสมาชิกอาเซียนใหม่ และสนับสนุนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน โดยไทยย้ำบทบาทในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในภูมิภาคในทุกกรอบความร่วมมือ อันเป็นการต่อยอดจากบทบาทเชิงรุกของไทยด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
การประชุมรัฐมนตรีข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่างครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อกำหนดทิศทางในการดำเนินการต่อไปในอีก ๕ ปีข้างหน้า โดยเน้นโครงการที่ประสบความสำเร็จสูงสุดด้านความเชื่อมโยง ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด ด้านการศึกษา ด้านความเท่าเทียมกันทางเพศและด้านสาธารณสุข เรียกว่า Signature Programs อาทิ โครงการ Connect Mekong โครงการ Smart Infrastructure for the Mekong (SIM) โครงการ Connecting the Mekong through Education and Training (COMET) โครงการ Emerging Pandemic Threats Program (EPT) รวมทั้ง โครงการ Professional Communication Skills for Leaders (PCSL) ด้วย
ไทยในฐานะประเทศนำของสาขาการศึกษาได้จัดหลักสูตรฝึกทักษะผู้นำด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาทางการของอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการระยะที่สาม นอกจากนี้ ไทยให้ความสำคัญด้านความเชื่อมโยง โดยจะร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการจัดการอบรมด้านการบริหารจัดการชายแดน
นอกจากนี้ มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นที่มีความเกี่ยวโยงกัน (cross-cutting issues) ได้แก่ ความมั่นคงทางด้านอาหาร น้ำ และพลังงาน โดยได้มอบหมายให้กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ (Eminent and Expert Persons Group – EEPG) ศึกษาแนวทางการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้แทน EEPG ในส่วนของไทย ได้แก่ ดร. สุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง อดีตรองเลขาธิการอาเซียน และ รศ. ดร. รุธิร์ พนมยงค์ หัวหน้าสาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์และการขนส่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การประชุมรัฐมนตรีมิตรประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นเวทีที่หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ ได้แก่ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป นิวซีแลนด์ ธนาคารพัฒนาเอเชีย และธนาคารโลก มาร่วมหารือเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศลุ่มน้ำโขงร่วมกันเพื่อให้ได้ประโยชน์และเกิดประสิทธิภาพมากที่สุดและหลีกเลี่ยงความซ้ำซ้อนของการดำเนินโครงการในหลายกรอบความร่วมมือ
FLM เห็นพ้องที่จะจัดการประชุมว่าด้วยความยั่งยืนในลุ่มน้ำโขงในประเด็นสิ่งแวดล้อมและ
พลังงานทางเลือก
ในกรอบนี้ ไทยย้ำความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชนและสถาบันระหว่างประเทศ อาทิ สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **