วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ส.ค. 2557
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน: รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้หารือความคืบหน้าการเตรียมการเข้าไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ปี ๒๕๕๘ การดำเนินการตามแผนพิมพ์เขียวประชาคมการเมืองและความมั่นคง รวมทั้งเรื่องการจัดทำวิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี ๒๕๕๘ ซึ่งประเทศไทยเห็นว่า การจัดทำวิสัยทัศน์จะต้องเน้นประเด็นที่ปรากฏใน ๓ เสาหลัก แทนที่จะเน้นในแต่ละเสาประชาคม นอกจากนี้ สำนักเลขาธิการอาเซียนจะต้องเข้มแข็งขึ้นเพื่อสามารถรับมือกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ ที่มาจากการรวมตัวของอาเซียน ในส่วนของประเทศไทย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงวิสัยทัศน์และความเห็นในประเด็นว่า ภูมิภาคยังได้รับผลกระทบต่อภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ รวมทั้งความตึงเครียดในทะเลจีนใต้
ในเรื่องของพื้นที่บริเวณจีนใต้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้แสดงความชื่นชมประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ซึ่งท่าทีโดยรวมของประเทศจีนเป็นเชิงบวกมากขึ้น โดยเรียกร้องให้จัดทำแนวปฏิบัติการเกี่ยวกับทะเลจีนใต้ (code of conduct) โดยเร็ว ในขณะเดียวกัน ต้องมีมาตการในการคลายความตึงเครียดสถานการณ์ดังกล่าวภายใต้ปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นสถานการณ์นอกภูมิภาค เหตุการณ์กรณีเครื่องบิน MH 17 ถูกยิงตก สถานการณ์ยูเครนและที่ฉนวนกาซ่า ซึ่งส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตรวมทั้งแรงงานไทยหนึ่งคน ดังนั้น อาเซียนไม่สามารถเพิกเฉยต่อพัฒนาการนอกอาเซียน โดยอาเซียนจะต้องมีท่าทีเกี่ยวกับสถานการณ์โลกเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อให้มีน้ำหนักในเวทีระหว่างประเทศ ในบริบทของสถานปัตยกรรมในภูมิภาคและความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ประเทศไทยเห็นว่า อาเซียนจะต้องคงเอกภาพและความเป็นแกนกลาง โดยกรอบความร่วมมือจะต้องมีบทบาทสำคัญในการรับมือและแก้ไขปัญหาของภูมิภาค โดยให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและส่งเสริมการสร้างกฎและค่านิยมร่วมกันในภูมิภาคตะวันออก
๒. การประชุมคณะกรรมาธิการเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ในส่วนของประเทศไทย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้แสดงความเห็นเรื่องการส่งเสริมให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปลอดอาวุธนิวเคลียร์ โดยไทยได้แสดงความยินดีกับพัฒนาการของแผนงานสนับสนุนการอนุวัติตามสนธิสัญญาเขตปลอดนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกอาเซียนหารือกับกลุ่มประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เพื่อดำเนินการให้กลุ่มประเทศดังกล่าวลงนามและให้สัตยาบันต่อร่างพิธีสารแนบท้ายสนธิสัญญาเขตเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเร็ว นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบพัฒนาการของความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ภายใต้กรอบเครือข่ายของหน่วยงานกํากับดูแลการใช้พลังงานปรมาณูในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Network of Nuclear Regulatory Bodies on Atomic Energy - ASEANTOM) และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับทบวงการพลังงานปรมาณูรหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency - IAEA)
๓. รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนพบปะกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน: รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนรับทราบและทบทวนความคืบหน้าในการดำเนินการแผนงานของคณะกรรมมาธิการฯ รวมทั้งมีข้อเสนอแนะในเรื่องการทบทวนขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการธิการ และบทบาทของคณะกรรมาธิการฯ ต่อการดำเนินการของอาเซียนหลังปี ๒๕๕๘ ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ได้เสนอแนะว่า คณะกรรมาธิการฯ จะต้องปฏิสัมพันธ์กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาสังคม เพื่อให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง และการปฏิบัติกับภาคประชาสังคมตามแนวทางที่ได้ตกลงกันไว้ นอกจากนี้ ประเทศไทยเห็นว่า เรื่องสิทธิมนุษยชนและประเด็นที่มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องดำเนินการในทั้ง ๓ เสาหลัก และประเทศไทยต้องการให้คณะกรรมธิการฯ มีบทบาทในการปกป้องสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องประสบความสำเร็จอย่างดี และการที่ประเทศไทยเข้าร่วมประชุมเป็นการดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุก โดยเฉพาะในกรอบอาเซียน และการมีส่วนร่วมกับนานาประเทศ
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **