ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีน อย่างไม่เป็นทางการ วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีน อย่างไม่เป็นทางการ วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ส.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,039 view

เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีน ณ เนปิดอว์ สาระสำคัญ สรุปดังนี้

๑. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน เพื่อเตรียมการประชุมระดับรัฐมนตรีที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ ๗ - ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๗ ประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีอาเซียน การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (๑๘ ประเทศ) และการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกใต้ (๒๖ ประเทศและสหภาพยุโรป)

ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญกับการดำเนินการหลังการเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ (Post-2015) โดยได้หารือทิศทางเกี่ยวกับการจัดทำวิสัยทัศน์หลังปี ๒๕๕๘ ซึ่งประเด็นสำคัญ คือ การทำให้อาเซียนมีความหมายต่อประชาชน ในขณะเดียวกัน ที่ประชุมเห็นว่าการรวมตัวและความร่วมมือที่แน่นแฟ้นของอาเซียนควรจะต้องเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม และเตรียมรับมือกับประเด็นที่จะกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ ความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านพลังงาน และความมั่นคงด้านน้ำ ในมิติด้านการเมือง นอกจากการรักษาสันติภาพในภูมิภาคแล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศจะต้องส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากล และการจัดการภัยพิบัติ

ในการประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยได้มีบทบาทสำคัญในการจัดทำวิสัยทัศน์หลังปี ๒๕๕๘ ของอาเซียน โดยเน้น ๑) การพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ๒) อาเซียนจะต้องสามารถรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน และ ๓) การที่อาเซียนรักษาการเป็นแกนกลางในสถาปัตยกรรมภูมิภาค ซึ่งที่ประชุมได้แสดงความชื่นชมต่อเอกสารที่ไทยได้จัดทำเพื่อหารือเกี่ยวกับการขับเคลื่อนความเป็นแกนกลางของอาเซียนและการมียุทธศาสตร์ในสถาปัตยกรรมในภูมิภาค ใน ๕ หัวข้อ ได้แก่ อาเซียนเสริมสร้างความเข้มแข็งภายใน อาเซียนมีบทบาทในการคลี่คลายพื้นที่ปะทุในภูมิภาค การเป็นแกนกลางในการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจเพื่อให้ตระหนักว่าต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การเป็นแกนกลางในสถาปัตยกรรมภูมิภาค และการมีบทบาทนอกภูมิภาค

๒. การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน - จีน อย่างไม่เป็นทางการและการหารือทวิภาคีกับเจ้าหน้าที่อาวุโสจีน เพื่อเตรียมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน - จีน ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๕๗ โดยในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-จีน อย่างไม่เป็นทางการ จีนและประเทศสมาชิกอาเซียนได้ขอบคุณประเทศไทยที่ทำหน้าที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-จีน ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ - ๒๕๕๘ ได้เป็นอย่างดี โดยประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์และความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่รอบด้านมากขึ้นระหว่างอาเซียนกับจีน ซึ่งมีพัฒนาการที่สำคัญ ในกรอบความร่วมมือ ๒+๗ ซึ่งจีนได้เสนอในการประชุมสุดยอดอาเซียน - จีนเมื่อปี ๒๕๕๖ อาทิ การจัดตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย การขยายกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน ให้ครอบคลุมภาคสินค้าบริการและการลงทุน การจัดทำสนธิสัญญาความเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มิตรภาพ และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน การกำหนดให้ปี ๒๕๕๘ เป็นปีความร่วมมือด้านความมั่นคงในทะเล รวมทั้ง  ได้สนับสนุนข้อเสนอกรอบความร่วมมือการพัฒนาลุ่มน้ำโขง - ลานช้าง อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการดำเนินความร่วมมือลุ่มน้ำโขง - จีน ในอนาคต

ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับประเด็นที่จะผลักดันในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน – จีน โดยมุ่งเน้นการกำหนดมาตรการในการลดความตึงเครียดในบริเวณทะเลจีนใต้ ผ่านการดำเนินการ ๓ ประการ ได้แก่ ๑) จัดการประชุมระหว่างอาเซียนกับจีนที่เข้มข้นขึ้น เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น ๒) เร่งรัดการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct in the South China Sea - COC) และ ๓) กำหนดมาตรการชั่วคราวที่จะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ภายใต้กรอบปฏิญญาว่าด้วยการปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea - DOC) เพื่อป้องกันเหตุการณ์กระทบกระทั่งในพื้นที่ ในระหว่างการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้

ทั้งนี้ การเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ ๔๗ และการประชุมที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ เป็นโอกาสในการสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย โดยการแสดงให้เห็นว่าไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอาเซียน โดยเฉพาะในความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีน ซึ่งจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนได้แสดงความยอมรับและชื่นชมในบทบาทของไทย อีกทั้งยังเป็นโอกาสให้ไทยชี้แจงในประเด็นระหว่างประเทศอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ