วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ค. 2557
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๕๗ นางกานดา วัชราภัย อดีตรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รับการรับรองจากรัฐสมาชิกในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (Commission on the Status of Women- CSW) ของสหประชาชาติ ในการประชุมสมัยที่ ๕๙ ซึ่งเป็นวาระการดำรงตำแหน่งประธานของประเทศในกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ การประชุม CSW สมัยที่ ๕๙ จะมีขึ้นในเดือนมีนาคม ๒๕๕๘ และเป็นการครบรอบ ๒๐ ปีของการรับรองปฏิญญาปักกิ่งและแผนงาน (Beijing Declaration and Platform for Action) ด้วย
การได้รับการรับรองให้ดำรงตำแหน่งประธานของบุคลากรไทยครั้งนี้ แสดงถึงการที่นานาประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก ไว้วางใจและเชื่อมั่นในบทบาทของไทยในฐานะที่เป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านการส่งเสริมสิทธิและบทบาทของสตรี นอกจากนี้ การดำรงตำแหน่งดังกล่าวยังช่วยเสริมบทบาทของไทยในกรอบสหประชาชาติในภาพรวม อีกทั้งสะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีของไทยด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งไทยให้ความสำคัญมาโดยตลอด
คณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (CSW) เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการภายใต้คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายระดับโลกด้านความเสมอภาคทางเพศและการส่งเสริมบทบาทของสตรี โดยทุกปี ผู้แทนประเทศสมาชิกจะประชุมร่วมกันเพื่อประเมินพัฒนาการของการดำเนินการ ตลอดจนจัดทำนโยบายที่ช่วยเสริมสร้างความเสมอภาคทางเพศและศักยภาพของสตรีทั่วโลก นางกานดาฯ เคยดำรงตำแหน่งผู้แทนของไทยในคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children- ACWC) และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานในคณะกรรมาธิการ ACWC ระหว่างปี ๒๕๕๔ – ๒๕๕๖ อีกทั้งเคยดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระหว่างปี ๒๕๔๘ – ๒๕๕๓ โดยเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปฏิบัติงานด้านสิทธิสตรีและความเท่าเทียมทางเพศทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และเวทีระหว่างประเทศมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี
ขอขอบคุณภาพถ่ายจาก http://wvvw.m-society.go.th/
รูปภาพประกอบ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)
งานรับ-ส่งหนังสือ และงานสารบรรณ:
อีเมล [email protected]
เว็บไซต์นี้ได้รับการออกแบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนเข้าถึงเว็บไซต์ได้และมีมาตรฐาน WCAG 2.0 ระดับ AA
** เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุดควรใช้ Chrome เวอร์ชั่น 76 ขึ้นไป **