ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ก.ค. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565

| 2,531 view

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2557 นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และพล.อ. สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เป็นประธานร่วมในการประชุมคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ณ ศาลาว่าการกลาโหม


ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ย้ำถึงความสำคัญของการประชุมฯ ว่า โดยที่อาเซียนเปรียบเสมือนเสาหลักในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อนำข้อผูกพันภายใต้แผนงานจัดตั้งประชาคมอาเซียนไปปฏิบัติ รวมทั้งต้องหารือร่วมกันเพื่อรับมือกับผลกระทบหรือปัญหาท้าทายใหม่ ๆ ที่อาจเกิดจากการรวมตัวเป็นประชาคม เช่น ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ความมั่นคงทางทะเล และปัญหาด้านสาธารณสุข เป็นต้น

การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งแรก ซึ่งที่ประชุมร่วมกันพิจารณาว่า ประเทศไทยจะสามารถแสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนได้อย่างไรภายใต้บริบทของสภาพแวดล้อมในภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้อาเซียนสามารถคงบทบาทนำในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในภูมิภาค รวมทั้งสามารถดำเนินงานเพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายสุดท้ายและแผนการดำเนินการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) เป้าหมายระยะเฉพาะหน้า (ปัจจุบัน-ก.ย. 2557) ซึ่งมุ่งการเตรียมความพร้อมภายในประเทศ รวบรวมปัญหาข้อขัดข้อง และกำหนดแผนงานและกิจกรรมเร่งด่วนของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความพร้อมภายใน 2) เป้าหมายระยะเร่งด่วน (ต.ค. 2557-ธ.ค. 2558) ซึ่งมุ่งการปฏิบัติตามแผนงานและกิจกรรมเร่งด่วนใน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ การบริหารจัดการชายแดน การสร้างความมั่นคงทางทะเล การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการทูตเชิงป้องกัน และการเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติการทางทหารร่วมกันของอาเซียน และ 3) เป้าหมายระยะยาว (ม.ค. 2559 เป็นต้นไป) ซึ่งมุ่งเน้นความต่อเนื่องของการดำเนินการตามแผนงานและกิจกรรมเร่งด่วน การปรับปรุงแผนงาน โครงสร้างบุคลากร และงบประมาณให้สอดคล้องและรองรับวิสัยทัศน์ของประชาคมอาเซียนภายหลังปี 2558 

ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการตามเป้าหมายระยะเฉพาะหน้าและระยะเร่งด่วนเพื่อเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนใน 2 กิจกรรม ได้แก่ 1) การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการทูตเชิงป้องกัน ซึ่งเน้นการสร้างกลไกความร่วมมือเพื่อป้องกันความขัดแย้ง ลดความตึงเครียดและการเผชิญหน้า รวมทั้งสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรและนำไปสู่ความร่วมมือที่ดีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และ 2) การเร่งจัดทำข้อตกลงในกรอบอาเซียนที่อยู่ระหว่างการจัดทำหรือรอรับการให้สัตยาบันให้แล้วเสร็จ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้โดยเร็วที่สุด

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ